สร้างแน่ สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา 2 พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็น
หมวดหมู่ : การเมือง, เศรษฐกิจ, พัทลุง, สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 1 ก.พ. 2564, 08:05 น. อ่าน : 827 เมื่อวันที่
26 มกราคม 2564 ที่โรงแรมศิวารอยัล อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ
วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง พร้อมด้วย ส่วนราชการ ภาคเอกชน
และประชาชนชนชาวจังหวัดพัทลุง
รับฟังความคิดเห็นโครงการศึกษาความเหมาะสมผลกระทบสิ่งแวดล้อมในขั้นรายละเอียด (EIA)
ก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาจากตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน
จังหวัดพัทลุง ไปยัง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
เพื่อศึกษาถึงความเหมาะสมผล กระทบสิ่งแวดล้อม ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน
ตามแนวก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาผ่านพื้นที่อนุรักษ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลหลวง
ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
จะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เพื่อนำไปใช้ประกอบผลการศึกษาโครงการฯ
ให้มีความเหมาะสมต่อไป
จากการโครงการดังกล่าวประชาชนและผู้นำท้องถิ่นทั้ง
2 จังหวัด เรียกร้องให้มีการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาแห่งนี้มากว่า 20 ปี
จากบริเวณพื้นที่หมู่ที่ 1 บ้านแหลมทอง ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ไปยังพื้นที่หมู่ที่ 2 บ้านแหลมยาง ตำบลเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา
ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อร่นระยะทางในการสัญจรไปมาของประชาชนทั้ง 2
จังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยว และการอพยพประชาชน หากเกิดเหตุภัยพิบัติขนาดใหญ่
ซึ่งปกติการเดินทางต้องใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง
แต่หากมีการก่อสร้างสะพานดังกล่าว จะสามารถร่นระยะทางได้ประมาณ 80 กิโลเมตร
ใช้เวลาเดินทางเพียง 15-20 นาทีเท่านั้น
ด้าน
นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า
โครงการดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นศึกษารายละเอียดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
โดยการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนครั้งสุดท้าย
ซึ่งภาพรวมหากโครงการก่อสร้างสะพานดังกล่าวสำเร็จจะเกิดเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ
มีความคุ้มค่า เป็นผลกระทบเชิงบวกทั้งหมด
ระยะเวลาการก่อสร้างรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ 2 ปี
เนื่องจากว่ามีผู้ใจบุญจัดซื้อดินทั้ง 2
ฝั่งที่เชื่อมต่อกับถนนและตัวสะพานของโครงการฯ เพื่อบริจาคให้กับกรมทางหลวง โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเวนคืนที่ดิน
ตามขั้นตอนของระบบราชการทำให้การดำเนินงานรวดเร็วยิ่งขึ้น
คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2565 แล้วเสร็จในปี 2567 มูลค่าประมาณ 4,500 ล้านบาท
โดยสะพานแห่งนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งประโยชน์ในด้านคมนาคม
การขนถ่ายสินค้าเกษตร และส่งเสริมการท่องเที่ยว.