สสส. คืนลมหายใจ หยุดวิกฤตฝุ่น PM2.5

หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,

อ่าน : 198
สสส. PM 2.5 ห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น
สสส. คืนลมหายใจ หยุดวิกฤตฝุ่น PM2.5
               PM 2.5 คือ วิกฤติที่กระทบต่อสุขภาพคนไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
               ในช่วงปลายหนาวต่อเข้าฤดูร้อน ช่วงเวลาของอากาศเปลี่ยนแปลง เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยว กลายเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ ในแต่ละปี
               สภาพอากาศในช่วงปลายฤดูหนาวหลังจากอากาศเริ่มอุ่นขึ้น อากาศมักจะนิ่งและมีความชื้นต่ำ ทำให้ฝุ่นละอองต่างๆ รวมทั้ง PM 2.5 ไม่สามารถกระจายตัวได้ดี จึงสะสมอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะเขตเมืองที่มีตึกจำนวนมาก อากาศถ่ายเทยากอยู่แล้ว เมื่อฝุ่นควันสะสมอยู่มากๆ จึงกลายเป็นเหมือนฝาชีครอบฝุ่นไว้ 
               แน่นอนว่า “การเผาไหม้” ถือเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นเรื่องใหญ่ของปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การเผาป่าในช่วงฤดูแล้ง การเผาพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรทั้งในและนอกประเทศ กลายเป็นเหตุเกี่ยวพันกันไปหมด และทำให้เราหนีจากฝุ่นไปไม่รอด 
               เมื่อเร็วๆ นี้ สสส. สานพลัง Rocket Media Lab จัดทำรายงานสถานการณ์ฝุ่น เพื่อทำให้หนทางแก้ปัญหาและลดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนนั้นเกิดขึ้นได้จริง พร้อมจัดเสวนา “PM 2.5 Talk Forum รู้ลึกก่อนใคร...สถานการณ์ฝุ่นปี 2567” เพื่อเฝ้าระวังปัญหา นำเสนอรายงานสำรวจสถานการณ์สุขภาพและการเผาที่เกี่ยวข้องกับฝุ่น PM 2.5 รายภาค พร้อมพยากรณ์พื้นที่ต้องจับตาในปี 2568
 
 
               การวางนโยบายลดผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมถือเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์หลัก 10 ปี (2565-2574) ของ สสส. เพื่อผลักดันกระบวนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไก 4 พลัง นโยบาย ปัญญา สังคม และสื่อสาร ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. ชี้ว่า สาเหตุที่ต้องตระหนักถึงอันตรายในเรื่องนี้ เพราะ ฝุ่น PM 2.5 ในไทยวิกฤตต่อเนื่องกว่า 15 ปี และยังมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ เสี่ยงป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งปอด 
               สสส. ยังได้มีส่วนร่วมผลักดันร่าง พ.ร.บ.บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด มุ่งเป้าสร้างแนวทางการจัดการมลพิษทางอากาศแบบสุขภาพนำสังคม หรือสังคมอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพที่ดีของทุกคน
 
 
               เปิดสาเหตุต้นตอก่อฝุ่น PM 2.5 ของประเทศไทย
               ผลการเปรียบเทียบข้อมูลช่วงฤดูกาลฝุ่นของไทยระหว่างปี 2566-2567 นายสันติชัย อาภารณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab ชี้ว่า การเผานาข้าวและไร่ข้าวโพดเป็นพื้นที่เกษตรที่มีการเผาไหม้สูงสุด 11 ล้านไร่ จากพื้นที่เผาไหม้ทั้งหมด 19 ล้านไร่ ขณะที่ไฟป่าลดลงกว่าครึ่งหนึ่งจาก 7 ล้านไร่เหลือ 3.2 ล้านไร่ 
               ภาคเหนือและภาคตะวันตก ในปี 2566 มีปัญหาไฟป่าสูง เมื่อเน้นไปที่การดูแลจัดการไฟป่า ก็ทำให้สถานการณ์ลดลง แต่พื้นที่การเกษตร ข้าว มีการเผาเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมการเผาในภาคเหนือไม่ได้ลดลง
               ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่เผาเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 500% กลายเป็นพื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้นสูงสุดจากปี 2566 หลัก ๆ ยังเป็นการเผาข้าวและข้าวโพด
               ภาคกลาง เป็นพื้นที่ที่มีการเผาจากทางการเกษตรตลอด โดยเฉพาะข้าว ข้าวโพด และอ้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุด
               ภาคตะวันออก ที่ผ่านมาอาจไม่เคยนึกถึง PM 2.5 เพราะติดทะเลน่าจะอากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าจะมีมลพิษก็คงเกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม แต่กลับพบว่า มีการเผาไหม้เพิ่มขึ้นเป็นอันดับ 2 ของประเทศ คือเพิ่มสูงขึ้น 371% มีการเผาสูงมากคือ ข้าว ข้าวโพด
               เมื่อหันไปโฟกัสเรื่องไฟป่า กลับพบว่า ปัญหาฝุ่นที่เกิดจากไฟป่านั้นลดลง แต่นาข้าวหรือพื้นที่เกษตรกรกลับมีการเผาไหม้สูง ทำให้ต้องหันมาโฟกัสเรื่องนี้อีกครั้ง โดยเฉพาะ ปัญหา "หมอกควันข้ามแดน" ที่ข้อมูลของ GISTDA  พบว่าจุดฮอตสปอตในกัมพูชาสูงมาก  ซึ่งเรายังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ 
 
 
               สอดคล้องกับข้อมูลจาก น.ส.นัยนา ใช้เทียมวงศ์ ผู้อำนวยการกองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย ที่ระบุว่า ฝุ่น PM 2.5 ในไทยรุนแรงสุดในรอบ 5 ปี โดยสาเหตุของฝุ่น PM 2.5 
               กทม. 60% คือการจราจร  
               ภาคเหนือ 70% คือการเผาพื้นที่ป่า 
               ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 70% มาจากการเผาทางการเกษตร 
               5.9 ล้านคน คือตัวเลขผู้ป่วย 4 กลุ่มโรคเมื่อปี 2567 ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสมลพิษทางอากาศ
               กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ มากที่สุด 2.5 ล้านคน 
               กลุ่มโรคตาอักเสบ 2.04 ล้านคน  
               เฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคสูงถึง 1.89 ล้านคน คิดเป็น 31.65%
               น.ส.นัยนา ชี้ว่านวัตกรรมที่จะช่วยคนไทยรับมือและอยู่ในสถานที่ปลอดฝุ่นได้มี 2 นวัตกรรม คือ ห้องปลอดฝุ่น และมุ้งสู้ฝุ่น ซึ่งหลักการคือเพื่อกันฝุ่นจากข้างนอกไม่ให้เข้าห้อง กรองฝุ่นในห้อง และดันฝุ่นออกไปจากห้อง 
 
 
               "ห้องปลอดฝุ่น" ได้ร่วมกับ สสส. พัฒนา ช่วยลดสัมผัสฝุ่น 50-80% มีการทำห้องปลอดฝุ่นแล้ว 10,371 ห้อง ใน 70 จังหวัด ขณะที่ "มุ้งสู้ฝุ่น" เหมาะกับบ้านเรือนชนบทที่ฝาผนังมีช่องว่าง มีรูรั่ว ไม่สามารถปิดห้องสนิทได้สนิท ไม่สะดวกทำห้องปลอดฝุ่น ก็ช่วยประชาชนเข้าถึงพื้นที่ปลอดฝุ่นในบ้าน เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุเคลื่อนย้ายลำบาก ช่วยลดสัมผัสฝุ่น 30-75% มีการสนับสนุนแล้ว 1,340 ชุด ใน 35 จังหวัด
 
 
 
               อันตรายของมลพิษที่มากับ PM2.5
               1. คาร์บอนมอนอกไซด์ จากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง ทำให้มึนงง ปวดศีรษะ ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดอาการรุนแรงมากขึ้น
                2. ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่มีกำมะถัน ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตา จมูก
               3. ไนโตรเจนไดออกไซด์ เกิดจากยานพาหนะ ทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ
               4.ตะกั่วและโลหะหนักอื่นๆ จากยานพาหนะ แบตเตอรี ทำให้ไตเสื่อมคุณภาพ อันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง
               5. VOCs สารเคมีระเหยง่าย เช่น เบนซีน โทลูอีน และโซลีน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและอาจเป็นสารก่อมะเร็งได้
               6. PAHs ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
               PM 2.5 มีองค์ประกอบหลายส่วน ทั้งชีวภาพ สารอนินทรีย์ และสารอินทรีย์ มีผลทำให้เกิดภัยคุกคามต่อสุขภาพ เนื่องจากมีขนาดเล็กมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางเส้นผม เมื่อหายใจเข้าโพรงจมูก ก็สามารถเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น หากหายใจลึกลงถึงถุงลมปอด ก็เข้าเส้นเลือดฝอยได้ บางส่วนตกค้างในช่องคอกลืนลงระบบทางเดินอาหารก็ดูดซึมเข้ากระแสเลือด ไหลเวียนไปทั่วร่างกาย เข้าสู่หัวใจและสมอง ผ่านระบบไหลเวียนของเลือด
 
 
               ล้อมกรอบ
               ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และประธานสภาลมหายใจกรุงเทพ  “การแก้ไขปัญหาฝุ่นต้องใช้ ‘ข้อมูล’ ในการขับเคลื่อน อย่าใช้ความรู้สึก แต่ความรู้สึกก็มีประโยชน์ อย่างปีนี้กำลังสำลักฝุ่นที่เมืองหลวงและภาคกลางอย่างหนัก ถือเป็นปีแรกที่หน่วยงานรัฐไม่น้อยตัดสินใจลุกขึ้นสู้กับกลุ่มทุน อย่างไรก็ตาม หากเราทราบข้อมูลต่างๆ มากขึ้นว่าฝุ่นที่เกิดขึ้นมาจากไหน ใครเป็นคนก่อ ก็จะช่วยให้มีมาตรการต่างๆ ได้”
               3 เครื่องมือแก้ฝุ่น
               1. เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือในการวัดค่าฝุ่น การทางทิศทางลม การเฝ้าระวังจุดฮอตสปอต ช่วยให้เรามีข้อมูลในการดูทิศทางลม ฝุ่น จุดความร้อนต่างๆ เพื่อหยุดการชี้ว่าเป็นเพราะเธอเผาเราจึงรับฝุ่น ซึ่งไม่ใช่การหาแพะหาจำเลย แต่นำวิทยาศาสตร์มาใช้ว่าเรามีส่วนสร้างฝุ่นและจะร่วมมือกันหยุดให้ได้
               2. เครื่องมือทางการตลาด เป็นการอาศัยความร่วมมือจากประชาชน ที่ต้องใส่ใจว่าการผลิตสินค้า หรือบริการอะไรที่ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เหมือนอย่างสิงคโปร์ที่ทำสำเร็จผ่าน นโยบาย We Breathe What We Buy เราหายใจในสิ่งที่เราซื้อเสมอ ต้องถามผู้ขายสินค้าและบริการทุกครั้งว่าเกี่ยวข้องอะไรกับการเผาหรือไม่ ถ้าเกี่ยวจะไม่ซื้อ พลังผู้บริโภคถือว่าแข็งแรงมาก สภาลมหายใจฯ ก็อยากชวนตั้งคำถามว่า มีสินค้าบริการอะไรที่มาจากการเผาบ้างแล้วเรายังไม่รู้
               3. เครื่องมือระเบียบกฎหมาย การใช้เครื่องมือทางภาษีเพื่อควบคุม หรือช่วยเหลือในกระบวนการเกษตรเพื่อลดการเผาลง เช่น ออกระเบียบพื้นที่ใดพื้นที่ยกเว้นภาษีที่ดิน หากเป็นที่พักฟาง ซึ่งเกษตรกรไม่ได้อยากเผา หากมีที่พักฟางทุกหมู่บ้านตำบล ก็ไม่ต้องไปเสียภาษีที่ดิน ส่วนบริษัททำอาหารสัตว์ ซื้อเอาไปเลี้ยงปศุสัตว์ คนทำสวนที่เอาฟางสดไปคลุมดิน หรือโรงไฟฟ้าชีวมวลซื้อไปผลิตไฟฟ้า แต่มีเงื่อนไขต้องไม่ให้เกิดไฟไหม้ หากทำได้ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทุกตำบล เงินหลวงก็ไม่ต้องออก และการเผาจะหายไป.
 

 

 

 

 


อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :