สสส. จัดโครงการ “ปิดเทอมสร้างสรรค์” กิจกรรมฉ่ำเว่อร์
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 1 เม.ย. 2568, 11:01 น. อ่าน : 155
ปิดเทอมแล้วจ้าาาาา
ช่วงเวลาที่เด็กๆ รอคอย ในการได้พักปิดเทอมใหญ่ เว้นว่างจากวิชาการในโรงเรียน แต่ไม่ได้หมายความว่า การเรียนรู้จะต้องหยุดลงไปพร้อมการปิดเทอม!!!
ช่วงวันว่าง 150 วัน ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่จะได้ใช้เวลาทำสิ่งที่ชอบ สิ่งที่สร้างสรรค์ เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตัวเอง
แต่เวลาว่างที่เกิดขึ้นนั้น หากไม่จัดการอย่างเหมาะสม พ่อแม่ ทิ้งลูกไว้กับหน้าจอก็อาจกลายเป็นปัญหาด้านพัฒนาการเช่นกัน เมื่อดูจากรายงานสรุปผลการใช้ไอซีทีของเด็กและเยาวชน ปี 2566 โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบเด็กและเยาวชนใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจาก 86.3% ในปี 2562 เป็น 98.2% ในปี 2566
เมื่อเด็กและเยาวชนใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับสื่อออนไลน์ อาจส่งผลกระทบตามมา เช่น การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ และการติดเกมออนไลน์ รวมถึงการเคลื่อนไหวน้อย ขาดการออกกำลังกาย
การติดจอแน่นอนว่า ส่งผลเสียหลายด้าน
1.ด้านการสื่อสาร พูดช้า พูดไม่ชัด ขาดความคิดสร้างสรรค์ และการจ้องมองจอภาพเป็นเวลานานจะส่งผลเสียกับดวงตาได้ เช่น ทำให้สายตาสั้น ดวงตาแห้ง
2.ด้านร่างกาย จะไม่แข็งแรง เหนื่อยง่าย ขาดการเคลื่อนไหวออกกำลังกายตามที่ควรจะเป็นหรืออาจส่งผลให้เป็นเด็กขี้เกียจได้
3.ด้านอารมณ์ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เพราะเด็กแยกแยะโลกของอินเทอร์เน็ตกับความจริงไม่ได้ หงุดหงิดง่าย ใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กขาดสมาธิไม่จดจ่อหรือตั้งใจทำกิจกรรมใด
4.ด้านพฤติกรรม จะก้าวร้าว ซน สมาธิสั้น มีพฤติกรรมคล้ายออทิสติก คือ ดื้อ ต่อต้าน โลกส่วนตัวสูง สื่อสารกับคนอื่นน้อย
ไม่ใช่ว่าทุกครอบครัวจะสามารถจัดการกิจกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ ได้ ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมและความต้องการแหล่งเรียนรู้ กลุ่มเยาวชนอายุ 15-25 ปี รวม 19,694 คน จากทั่วประเทศ ปี 2565
เด็กและเยาวชน 60% ไม่เคยไปแหล่งเรียนรู้ประเภทศูนย์ฝึกอาชีพ
เด็กและเยาวชน 42.7% ไม่เคยไปพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์
เด็กและเยาวชน 29% ไม่เคยไปสวนสัตว์และสวนพฤกษศาสตร์
เด็กและเยาวชน 22.8% ไม่เคยไปสนามกีฬา
โดยมีอุปสรรคคือระยะทาง การเข้าถึง และเศรษฐกิจฐานะของครอบครัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้สนับสนุนการเรียนรู้ในช่วงเวลาปิดเทอมแบบฉ่ำๆ โดย สสส. ริเริ่มสานพลังกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ และภาคีเครือข่าย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้สร้างสรรค์เพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทำงานร่วมกัน 6 ด้าน
1.พัฒนาระบบฐานข้อมูล (Learning Platform) รวมแหล่งเรียนรู้ นำไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้เด็กและครอบครัวเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง
2.พัฒนามาตรฐานแหล่งเรียนรู้ (Learning Space) เพิ่มศักยภาพแหล่งเรียนรู้ให้มีคุณภาพ และขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระดับท้องถิ่น
3.พัฒนาศักยภาพนักจัดการเรียนรู้ (Learning Creator) ให้ออกแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องตามบริบทของพื้นที่ ผลักดันให้เกิดการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพของนักจัดการเรียนรู้
4.จัดแคมเปญกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ (Learning Activity) ผ่านการรวบรวมและเผยแพร่กิจกรรมสร้างการเรียนรู้ในช่วงปิดเทอม พร้อมขยายผลให้เกิดการเรียนรู้ตลอดทั้งปี
5.ศึกษาแนวทางระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) รวบรวมบทเรียนและองค์ความรู้ของเครือข่ายที่มีประสบการณ์ เชื่อมแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนและการศึกษาของรัฐ นำไปขยายผลให้แหล่งเรียนรู้สามารถบูรณาการการเรียนรู้และการศึกษาของรัฐ
6.สนับสนุนบทเรียน งานวิจัย และงบประมาณ สำหรับการจัดการแหล่งเรียนรู้
หากถามว่า ปีนี้มีอะไรเพิ่มมากขึ้น? 4 ส่วนหลักๆ นั่นคือ
• กิจกรรมเพิ่มมากขึ้น พื้นที่เพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 1,000 กิจกรรม จาก 954 พื้นที่การเรียนรู้ รองรับผู้เข้าร่วมได้มากกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ
• มีจังหวัดยุทธศาสตร์และจังหวัดในเครือข่ายเพิ่มขึ้นรวม 31 จังหวัด
• มีองค์กรภาคียุทธศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือสนับสนุนเมืองแห่งการเรียนรู้รวม 9 องค์กร
• เติมกระบวนการสนับสนุนการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เพิ่มขึ้นในทุกจังหวัด
สามารถค้นหากิจกรรมได้จาก www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมกิจกรรมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ความสุข และแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง สู่การเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ มากกว่า 1,000 กิจกรรม รวมถึงข้อมูลนำเสนอพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่ใกล้บ้าน เด็กสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที คาดว่าจะมีเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งช่วงปิดเทอมมากกว่า 100,000 คน
อย่ารอช้า ใกล้ที่ไหน ไปสนุกที่นั่น
ทำไมพ่อแม่ต้องเล่นกับลูกวันละ 30 นาที?
American Academy of Pediatrics (AAP) หรือ สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา ได้ทำการวิจัยด้านการเล่นและพัฒนาการ และพบว่าการที่เด็กได้เล่นกับพ่อ เเม่ หรือการเล่นที่พ่อ เเม่เป็นผู้ช่วยและสนับสนุนการเล่น (parent-guided play) ให้เด็กได้เล่นอิสระอย่างน้อย “30 นาทีต่อวัน” และอย่างต่ำ 1 ชั่วโมง
เหตุผลหลักที่ได้จากการทำกิจกรรมด้วยกัน เล่นด้วยกัน นอกจากทักษะความคิดสร้างสรรค์ การสงสัยใคร่รู้ การทำงานเป็นทีม และทักษะทางด้านภาษา ที่เด็กได้จากการเล่นแล้ว “ความสัมพันธ์” คือ สิ่งที่เด็กจะได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว
ในรายงาน The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children ของ AAP ยังเปิดเผยข้อมูลว่า “การเล่น” ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจกรรมที่มีเป้าหมาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายเสมอไป แต่กิจกรรมง่ายๆ ที่ทุกครอบครัวสามารถทำได้ เช่น การเล่านิทาน หรือทำงานบ้าน ก็สามารถเสริมสร้างพัฒนาการให้เด็กได้อย่างสมบูรณ์
กิจกรรมเหล่านี้ถือเป็น “เวลาคุณภาพ (Quality time)” ที่เด็กจะสามารถพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตในโลกอนาคต และยังเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามมีนักวิจัยมากมายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเราไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเด็กควรเล่นเท่าไหร่ถึงจะพอ เพราะ “ระยะเวลาเล่น” ไม่เท่ากับ “คุณภาพของการเล่น”
หากคุณพ่อ คุณแม่ สามารถมีเวลาคุณภาพ ที่จะใช้ในการร่วมเล่นกับลูกได้ในทุกวันวันละอย่างน้อย 30 นาที เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส.
สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย 4 ภูมิภาค โดยมี 9 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี อุตรดิตถ์ ลำพูน ลำปาง นราธิวาส กระบี่ ขอนแก่น นครราชสีมา พร้อมหน่วยจัดการ ประสานงาน และขับเคลื่อนกิจกรรมในอีก 21 จังหวัด ในปี 2568 มีภาคีภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมที่มีแหล่งเรียนรู้ 985 องค์กร ทั่วประเทศ ร่วมกันจุดประกายให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ในช่วงวันหยุดและปิดเทอม
สามารถค้นหากิจกรรมได้จาก www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ที่รวบรวมกิจกรรมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ความสุข และแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง สู่การเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลกที่มีคุณภาพ มากกว่า 1,000 กิจกรรม รวมถึงข้อมูลนำเสนอพื้นที่ให้เด็กและผู้ปกครองเลือกเข้าร่วมกิจกรรมตามที่สนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้อยู่ใกล้บ้าน เด็กสามารถเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที คาดว่าจะมีเด็กและครอบครัวทั่วประเทศ เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งช่วงปิดเทอมมากกว่า 100,000 คน
น.ส.ศิริพร พรมวงศ์ หัวหน้าโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์
แพลตฟอร์ม ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ทำหน้าที่เชื่อมองค์กรและเด็กๆ มาเจอกัน จับคู่กันตามความสนใจ เพื่อให้วันว่างกลายเป็นวันแห่งโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้อย่างอิสระ สร้างสรรค์ สร้างฝัน สร้างทักษะชีวิต ที่น่าสนใจ ในปี 2568 ภาคีเครือข่าย ร่วมกับ สสส. เพิ่มความพิเศษให้กับโครงการปิดเทอมสร้างสรรค์ ด้วยการพัฒนาฐานข้อมูลบนระบบ LINE OA ‘@happyschoolbreak’ เพื่อเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูลพื้นที่จัดกิจกรรมวันว่าง พื้นที่แหล่งเรียนรู้ของภาคี และอำนวยความสะดวกแก่เด็กและผู้ปกครอง ในการค้นหากิจกรรมช่วงวันหยุด ในช่วงปิดเทอม
ส่องกิจกรรมปิดเทอมสร้างสรรค์
สารพัดกิจกรรม ถูกรวบรวมไว้ที่ www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com ทั้งเด็กและผู้ปกครองสามารถเข้าไปค้นหากิจกรรมน่าสนใจใกล้บ้าน ซึ่งแต่ละจังหวัด ก็จะมีกิจกรรมแตกต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นด้านให้ความรู้ เสริมทักษะศิลปะ หรือ เสริมทักษะทางภาษา พัฒนาตนเอง กระตุ้นการเรียนรู้แบบต่างๆ ซึ่งอาจจะเชื่อมโยงไปกับความรู้ ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนด้วย อาทิ พัฒนา Learning Space ร่วมกับชุมชน, ความรู้ด้านกฎหมาย ภัยจากสื่อออนไลน์ ยาเสพติด, บรรพชาสามเณร, แต่งนิทาน เล่านิทาน, อ่านได้อ่านดี อ่านทุกวี่ทุกวัน, สอนเสริมเด็กพิเศษ, ชมรมดนตรี, Cover Dance, กิจกรรมการฝึกทักษะเบเกอรี่, เล่นว่าวหรรษา, ช่างตัวน้อย สานไซ สานใจ, Darkroomtour, มัดย้อมมัดใจ, ค่ายเภสัชกรรุ่นเยาว์ (Pharmacist Junior)
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนน้อยของกิจกรรมเท่านั้น เพราะกิจกรรมทั้งหมดถูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย มีทั้งกิจกรรมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ที่จัดโดยหน่วยงานต่างๆ และกิจกรรมที่มีค่าใช้จ่ายเล็กน้อยของหน่วยงานเอกชน ทำให้ผู้ปกครอง และเด็ก เยาวชน สามารถเลือกหากิจกรรมที่โดนใจกันได้ไม่ยาก
หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร ลองเสิร์ท “ปิดเทอมสร้างสรรค์” ประตูที่จะเปิดไปสู่การเรียนรู้แบบใหม่ๆ ฉ่ำๆ.