สสส. สานพลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 16 ก.ย. 2566, 08:00 น. อ่าน : 487 กรุงเทพฯ
-
จากสภาพสังคมปัจจุบันที่ทำให้ผู้คนต้องทำงานสร้างรายได้
หลายครอบครัวผู้สูงอายุต้องดูแลเด็กตามลำพัง
ประชากรวัยแรงงานนอกจากต้องหารายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว
ยังต้องมีเวลาดูแลพ่อแม่ ผู้สูงอายุ
ที่ตามช่วงวัยแล้วมักต้องไปโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับความต้องการของสถานประกอบการที่มุ่งหวังให้คนทำงานในสถานประกอบการทำงานเต็มที่
เต็มเวลา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดคุยในการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ ประจำปี
2566 ภายใต้แนวคิดหลัก “สานพลังสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว : สร้างสุข
ทุกพื้นที่ปลอดภัย”
น.ส.ณัฐยา
บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า
ความพยายามผลักดันองค์กรให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย
อันดับแรกต้องทำให้ที่ทำงานไม่มีการดูถูก หรือบูลลี่เรื่องเพศ
ไม่มีการคุกคามทางเพศ เพราะภาวะหมดไฟมักเกิดจากมีการสะสมทัศนคติเชิงลบ
นโยบายที่ไม่เป็นธรรม
การแก้ปัญหาด้วยการลาพักร้อนเพื่อหวังชาร์จไฟในการทำงานก็ไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้อง
เพราะเมื่อกลับมาทำงานก็ต้องพบเจอสภาพปัญหาเดิมๆ
สถานประกอบการจึงต้องพยายามปรับให้คนทำงานไม่ต้องเลือกระหว่างงาน และ ครอบครัว
ด้วยการดูแลคนทำงาน ทำให้ที่ทำงานให้เป็นพื้นที่เสริมพลังบวก
ส่งเสริมการดูแลสวัสดิการและสร้างสุขภาวะที่ดีให้ครอบครัวใน 2 ส่วนสำคัญ
1.มีสวัสดิการที่เอื้อให้พนักงานสามารถดูแลสมาชิกครอบครัวได้ เช่น
มีเงินช่วยเหลือลูกเล็ก มีศูนย์เด็กเล็ก การรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ
2.การลาที่หลากหลายประเภท นอกจากนี้
สสส.ยังมีโครงการสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายสถานประกอบการที่มี
นโยบายเอื้อต่อการดูแลครอบครัวของพนักงาน ซึ่งมีหลายบริษัทเอกชนมีนโยบายและดำเนินการเรื่องนี้
เพราะต่างมองเห็นว่าหากดูแลพนักงานและครอบครัวดี
การทำงานของคนในองค์กรก็จะทำแบบสบายใจไม่ต้องกังวล การทำงานเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น
นายศานนท์
หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า
การสร้างสมดุลเป็นเรื่องท้าทาย
โดยเฉพาะองค์กรภาครัฐเป็นองค์กรใหญ่และอาจติดเรื่องระเบียบ
แต่ก็พยายามผลักดันเรื่องนี้ เช่น ในโรงเรียนสังกัด กทม. ที่มีกว่า 600 โรง
ขณะนี้พยายามทำให้เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ปลดล็อกครูลดภาระงานเอกสาร
เพิ่มเสรีภาพให้นักเรียนเน้นการทำประชาพิจารณ์ในระดับนักเรียนก่อน
โดยเฉพาะเรื่องทรงผมและการแต่งเครื่องแบบนักเรียน
เชื่อว่าจะเป็นรากฐานการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและทำให้เด็กอยากเรียนมากขึ้น
ส่วนระดับพื้นฐานอย่างครอบครัว การสร้างบ้านให้อบอุ่นเป็นเซฟโซนสำหรับคนในครอบครัว
ต้องเริ่มจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่
นางสาวชลธิดา
ยาโนยะ ผู้ประพันธ์ นวนิยาย “มาตาลดา” เล่าถึงมุมมองและประสบการณ์ว่า
เด็กที่เติบโตขึ้นมาจะมีบุคลิกภาพอย่างไรขึ้นอยู่กับเบ้าหลอมอย่างพ่อแม่
ซึ่งพ่อแม่ในสมัยก่อนอาจยึดคติรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี
แต่ในสมัยนี้ไม่สามารถนำคติดังกล่าวมาใช้ได้ แต่พ่อแม่ต้องใช้เหตุผล
ใช้คำพูดสร้างกำลังใจ ให้เด็กรู้สึกว่าไม่ต้องแสวงหาเซฟโซนจากที่ไหน
ซึ่งการที่ครอบครัวมีกฎระเบียบเป็นสิ่งที่ดี แต่จะต้องไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป
ต้องตั้งรับกับความผิดพลาด ต้องล้มได้แล้วลุกได้ด้วยตัวเอง
ซึ่งจะทำให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความมั่นใจในตัวเอง และกล้าเผชิญปัญหา
นางจินตนา จันทร์บำรุง อธิบดี กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวว่า พื้นที่ปลอดภัยต้องสามารถเป็นพื้นที่ที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองได้ และต้องไม่ใช่สถานที่ที่เราจะสุขเพียงคนเดียวแต่ทุกคนต้องสุขร่วมกัน สำหรับสถานที่ทำงานที่ถือเป็นสถานที่ที่คนวัยแรงงานต้องใช้ชีวิตไม่ต่ำกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ตามทัศนคติของคนทำงาน ก็คงอยากเห็นที่ทำงานเป็นที่ที่อยู่แล้วมีความสุข ทำงานด้วยความสบายใจ แต่ต้องยอมรับว่าหลายๆ ที่ไปไม่ถึงจุดนั้นเพราะมุ่งเน้นเพียงตัวเลขผลประกอบการ อย่างไรก็ตามมีหลายองค์กรที่ปรับมุมมอง ปรับทัศนคติ มองหาแนวทางสร้างบรรยากาศที่มีความสุขในการทำงาน ทำให้คนทำงานไม่เกิดภาวะ Burn out หรือหมดไฟในการทำงาน
ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อครอบครัว
และการสร้างพื้นที่ปลอดภัย
จะเดินหน้าทำเพียงหน่วยงานของตนเองคงไม่ประสบความสำเร็จได้
แต่การร่วมมือกันจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ลงไปถึงชุมชน
และครอบครัวจะช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จให้เห็นผลจริง และจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน.