สสส. แนะ “โรคอ้วน” ป้องกันได้ และต้องรักษาแต่เนิ่นๆ ห่วงเด็กไทยอ้วนเสี่ยงโรค NCDs 4 เท่า
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 14 มี.ค. 2565, 19:23 น. อ่าน : 773 กรุงเทพฯ - เมื่อวันที่ 3
มีนาคม 2565 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ กองโรคไม่ติดต่อ
กรมควบคุมโรค ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย
ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
(สสส.) จัดเสวนา เรื่อง วันอ้วนโลก : ทุกคนต้องลงมือแก้ไข เนื่องจากวันที่ 4
มีนาคม ของทุกปีในวันอ้วนโลก ซึ่งปีนี้ใช้แคมเปญว่า “World
Obesity Day: Everybody Needs to Act”
ศ.พญ.ลัดดา
เหมาะสุวรรณ กรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า
สถานการณ์โรคอ้วนในเด็ก จากผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS)
ใน พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) และองค์การยูนิเซฟ (UNICEF)
ประเทศไทย พบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี
มีภาวะอ้วนและโรคอ้วนเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 8.8 เพิ่มเป็นร้อยละ 9.2 ในปี
2562 ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 6-14 ปี มีภาวะอ้วนและโรคอ้วน
เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 11.7 ในปี 2561 เพิ่มเป็นร้อยละ 12.4 ในปี 2564
ซึ่งในกลุ่มนี้ตั้งเป้าภายในอีก 3 ปี ต้องลดภาวะเด็กอ้วนไม่เกินร้อยละ 10
นอกจากนี้ เด็กอายุ 10-14 ปี ที่มีภาวะอ้วนร้อยละ 8 มีความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่
2 และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
โดยโรคอ้วนในเด็กส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกายในกรณีที่มีน้ำหนักมาก ทำให้ข้อผิดปกติ
เช่น ขาโก่ง ขากาง การเคลื่อนไหวช้า คุณภาพการนอนไม่ดี เกิดภาวะนอนกรนจนหยุดหายใจ
ปัญหาด้านพัฒนาการ ระบบการหายใจ หัวใจ และโรคภัยที่จะตามมาไม่ต่างจากผู้ใหญ่
ซึ่งกลุ่มเด็กที่อ้วน จะมีเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าในปกติถึง 4 เท่าตัว
ศ.พญ.ลัดดา
กล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาต้องควบคุมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ลดหวาน มัน เค็ม
หมั่นเคลื่อนไหวร่างกาย มีพัฒนาการตามวัย สำหรับอาหารที่แนะนำหากเป็นทารก
นมแม่ดีที่สุด เพราะช่วยลดความเสี่ยงเบาหวานร้อยละ 35 และลดเสี่ยงโรคอ้วนร้อยละ 13
ส่วนเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติ ดื่มน้ำสะอาด นมจืด
ไม่สอนให้กินน้ำอัดลม
และสามารถฝึกกินผักให้เป็นนิสัยโดยเริ่มจากครอบครัวต่อเนื่องไปยังโรงเรียน
อาหารจะต้องไม่หวาน มัน เค็มจัด หลีกเลี่ยงผลไม้หวานจัด หรือน้ำอัดลม ซึ่ง สสส.
และหน่วยงานต่างๆ หากลไกเครื่องมือในการช่วยพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น
เลือกสัญลักษณ์โภชนาการอาหารทางเลือก (Healthier choice) เครื่องมือใช้ช่วยตัดสินใจเลือกผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อลดการบริโภคน้ำตาล
โซเดียม และไขมัน และแอปพลิเคชัน Food Choice ตัวช่วยของพ่อแม่ในการดูแลอาหารขนมของเด็ก
ด้าน
ผศ.พญ.ศานิต วิชานศวกุล อาจารย์ประจำหน่วยโภชนศาสตร์
ภาควิชาอายุรศาสตร์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า
อุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 30
หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด
ผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ.2562 - 2563 พบว่า
คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป มีภาวะอ้วน ร้อยละ 42.2 และอ้วนลงพุง ร้อยละ 39.4
ขณะที่คนกรุงเทพ มีความชุกของภาวะอ้วนสูงที่สุด ร้อยละ 47 และผู้หญิงในกรุงเทพฯ
มีความชุกภาวะอ้วนลงพุงสูงสุดถึงร้อยละ 65.3
นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NDCs) ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง
โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็ง ภาพรวมทั้งประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น
และมีมูลค่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น อย่างไรก็ตามวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบันยังเป็นลักษณะการตั้งรับ
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ว่า อ้วนเป็นโรค หรือต้องรักษา
และให้ความสำคัญกับการลดน้ำหนักเพื่อความงาม
ขณะเดียวกันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยยังไม่ตระหนัก
เพราะเห็นว่าประชาชนสามารถลดน้ำหนัก ควบคุมอาหารได้เอง โดยไม่ต้องพบแพทย์ ดังนั้น
จึงไม่มีใครมารักษาโรคอ้วน แม้ว่าจะยังไม่เกิดโรค
และไม่มีการส่งตัวหรือให้สิทธิในการรักษาพยาบาล ทั้งๆ ที่ถ้าลดน้ำหนักได้
จะลดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย และลดค่าใช้จ่ายมวลในการรักษาเมื่อเกิดโรค
ผศ.พญ.ศานิต
กล่าวต่อว่า อ้วนเป็นโรคที่ป้องกันได้
และควรได้รับการรักษาก่อนจะมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ ไม่เฉพาะคนไข้ ครอบครัว
ระบบสาธารณสุขต้องเข้ามาช่วยเหลือ รักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาต้องใช้เวลานาน
ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอยู่
ไม่รับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงแต่คุณค่าสารอาหารต่ำ หรือ อาหารขยะ
เลือกรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง
และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและเข้าถึงได้ ราคาไม่แพงเกินไป
ขณะเดียวกันทุกโรงพยาบาลควรให้ความสำคัญกับโรคอ้วน
ให้ความรู้ที่ถูกต้องในการลดน้ำหนัก
ไม่หักโหมหรือรับประทานอาหารเสริมโดยไม่มีผลทางคลินิกรองรับซึ่งทำให้เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์
ผศ.ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา หัวหน้าศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคอ้วนในเด็กไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการส่งต่อทางกรรมพันธุ์อีกต่อไป แต่เกิดจากการส่งต่อของพ่อแม่ในการเลี้ยงดู รวมถึงสิ่งแวดล้อม สถานที่เรียน สังคมที่หล่อหลอม ทำให้เด็กอ้วนมีพฤติกรรมเสี่ยง 3 เรื่อง คือ การกิน การเล่น สุขภาพจิตและการพักผ่อน ที่ไม่สมดุลซึ่ง 3 ประเด็นนี้ต้องร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการเพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงบานปลายเป็นผู้ใหญ่อ้วนที่มีโรครุมเร้า ทุกคนควรให้ความร่วมมือลงมือแก้ไขในทุกระดับ ทั้งภาคการปฏิบัติเชิงนโยบายการวางแผน บุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ชุมชน และครอบครัว โดยกลุ่มเด็กอ้วนที่ควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหามากที่สุด คือ เด็กอ้วนในครอบครัวที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งผู้ปกครองที่มีความรอบรู้การดูแลสุขภาพน้อย ต้องการความช่วยเหลือมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ถือเป็นความเหลื่อมล้ำที่คนรายได้น้อยเพราะเข้าถึงอาหารสุขภาพได้ยาก ซึ่งโรคอ้วนในเด็กทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยชัดเจน ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้สถานการณ์โรคอ้วน ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลง ต้องกักตัวอยู่ที่บาน การใช้ชีวิตอยู่หน้าจอ การกินโดยไม่รู้ตัว ล้วนทำให้มีความเสี่ยงเกิดโรคอ้วนทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก
สำหรับการจัด
Virtual
NCD Forum ครั้งนี้ สามารถเข้าชมย้อนหลังได้ทั้ง Facebook กองโรคไม่ติดต่อ กับ Facebook เปลี่ยนนิดพิชิตโรค.