“สาทิตย์” เร่งแก้ปัญหา อุทยานฯ ออก ประกาศทับที่ทำกินชาวบ้าน
หมวดหมู่ : ตรัง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 10 ก.ค. 2565, 14:00 น. อ่าน : 740ตรัง- “สาทิตย์” ส.ส.ตรัง เดินหน้าเร่งหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาที่ดินปัญหาเรื้อรังระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน กรณีอุทยานแห่งชาติออกประกาศทับที่ทำกินชาวบ้านใน อ.รัษฎา หวังให้เสร็จก่อนรัฐบาลนี้ หมดวาระลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.65 เวลา 09.00 น. ที่ นิณี การ์เด้น อ.รัษฎา จ.ตรัง นายสาทิตย์วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 3 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเวที การมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ อ.รัษฎา” พร้อมด้วยตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สปก. ป่าไม้ฯ อุทยานฯ กรมพัฒนาที่ดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 200 คน
นายสุรินทร์ ดำสุข อยู่บ้านเลขที่ 64 หมู่ 3 ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง หนึ่งในผู้เข้าร่วมรับฟังในครั้งนี้ กล่าวว่าสำหรับปัญหาในเรื่องที่ดินคือ ทางอุทยานฯ ประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้ทำมาหากินตั้งแต่บรรพบุรุษสมัยรุ่นปู่รุ่นย่า พื้นที่สวนยางพาราของตนโดนอุทยานฯ ประกาศทับที่ทำกิน ซึ่งทาง ครม.บอกว่าจะออกเอกสารรับรองให้ระดับหนึ่ง ซึ่งทาง คสช.เขาให้รังวัดที่ ที่อุทยานฯ ทับที่คนที่บุกรุกก่อนปี 57 แต่ตอนนี้ชาวบ้านคอยอยู่ว่ากระบวนการขั้นตอนจะเป็นแบบไหน สิ้นสุดเมื่อไหร่รอคอยมานาน 3 ปี แล้ว แต่ยังไปไม่ถึงไหนเลย ชาวบ้านยังรอคอยความหวังอยู่เพราะตอนนี้ชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เลย สวนยางพาราที่รอโค่นก็โค่นไม่ได้ ยางพารากรีดมาหลายปีแล้ว หมดน้ำยางก็ต้องปล่อยทิ้งไป ซึ่งความหวังของชาวบ้านต้องการให้ภาครัฐเปิดให้โค่นได้ระดับหนึ่ง เพราะสวนยางที่หมดสภาพก็เหมือนข้าราชการเกษียณอายุ ที่รอเงินก้อนหนึ่งสุดท้ายของไม้ยางพารา อย่างน้อยก็สามารถเป็นทุนต่อไปในอนาคต
ขณะที่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า วันนี้ตนได้เชิญคณะกรรมาธิการที่ดิน สภาผู้แทนราษฎร ลงมาเพื่อสัมมนาประชุมเพื่อแก้ปัญหาที่ดินให้พี่น้องในเขต 4 อำเภอ ของ ข.ตรัง ประกอบด้วย อ.สิเกา วังวิเศษ รัษฎา และห้วยยอดโดยกำหนดจัดประชุมเสวนาในระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค. จำนวน 3 วัน วันที่ 9 จัดขึ้นที่ปากเมง อ.สิเกา วันที่ 10 อ.รัษฎา และวันที่ 11 อ.ห้วยยอด ในส่วนปัญหาที่ดินตนมองเห็นว่าในเรื่องปัญหาที่ดินมีความซับซ้อน มีความเกี่ยวโยงกันหลายหน่วยงาน หลายกระทรวง เช่น กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย สปก. สังกัดกระทรวงเกษตร มีกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาเกี่ยวข้อง กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรฯ กรมอุทยานฯ มีพื้นที่สงวนหวงห้ามหลายประเภท แต่ไม่มีหน่วยงานกลางที่จะคอยเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาให้กับชาวบ้าน
“เวลาชาวบ้านมีปัญหาไม่รู้จะปรึกษาใครก็ได้แต่กอดปัญหาไว้กับตัวเอง ในฐานะ ส.ส. ตนเองรับรู้ปัญหามาเยอะจึงพยายามจะแก้ จึงคิดว่าในฐานะที่อยู่ในคณะกรรมาธิการที่ดินอยู่แล้วก็อยากจะเชิญลงมา ซึ่งตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค่อนข้างจะครบ เช่น ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง สปก. ที่ดิน ป่าไม้ อุทยานฯ กรมที่ดิน เข้าร่วมเพื่อที่จะเปิดให้ชาวบ้านได้แจ้งปัญหาและพูดคุยกับปัญหาที่ต้องเผชิญอยู่กับคณะกรรมาธิการที่ดินแห่งชาติ หรือคทช.มาร่วมด้วย ชาวบ้านจะได้รู้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาของ คทช.เขาทำอย่างไร ซึ่งได้ผลมากชาวบ้านเขาก็ดีใจที่ได้มีโครงการนี้ ครึ่งเช้าเราคุยเรื่องปัญหา ครึ่งบ่ายเราคุยเรื่องคลีนิคใครมีปัญหาก็เข้าไปคุยส่วนตัวเลย ห้องนี้ที่ดินห้องนี้ สปก. ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจมาก” นายสาทิตย์ กล่าว.