สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา จัดสัมมนา “โนรา จากอินเดียสู่คาบสมุทรไทย” วันที่ 27 มี.ค.นี้
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 23 มี.ค. 2565, 19:29 น. อ่าน : 946 สงขลา - สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา ร่วมกับ สถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย
จัดสัมมนา “โนรา จากอินเดียสู่คาบสมุทรไทย” (Nora from India to the Thai
Peninsula) วันที่ 27 มีนาคม 2565
เทียบเชิญนักวิชาการร่วมสืบค้นฐานรากความเป็นโนรา จ.สงขลา หวังนำความรู้สู่การใช้ประโยชน์
ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชน
อาจารย์ ดร.บรรจง
ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา)
ผู้เสนอโครงการสัมมนา เรื่อง โนรา จากอินเดียสู่คาบสมุทรไทย (Nora
from India to the Thai Peninsula) เปิดเผยว่า
โครงการดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 3
อาคารศูนย์รวมกิจกรรมนักศึกษา (Student Complex) มรภ.สงขลา
โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถานทูตอินเดียประจำประเทศไทย
วัตถุประสงค์เพื่อสืบค้นฐานรากความเป็นโนราของจังหวัดสงขลา และเพื่อจัดการความรู้และนำความรู้ดังกล่าวสู่การใช้ประโยชน์ทางวิชาการสู่การยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของชุมชน
โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี
เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ภายในงานมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง โนรา
จากอินเดียสู่คาบสมุทรไทย โดย ดร.อมรา ศรีสุชาติ
ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์ กรมศิลปากร
กรรมการมรดกโลกของกระทรวงวัฒนธรรม
นอกจากนั้น
ยังมีการอภิปราย เรื่อง โนรา มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
กับการสร้างระบบคุณค่าในสังคมชาวใต้ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการสถาบันทักษิณคดีศึกษา
มหาวิทยาลัยทักษิณ อาจารย์จิณ ฉิมพงศ์ ข้าราชการบำนาญ
มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช อาจารย์ธรรมนิตย์ นิคมรัตน์
อาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ อาจารย์โอภาส อิสโม รองผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยมี อาจารย์ ดร.บรรจง ทองสร้าง
ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
รับหน้าที่วิทยากรและผู้ดำเนินรายการ
ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม
มรภ.สงขลา กล่าวว่า “โนรา”
เป็นพิธีกรรมและศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่ผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตผู้คนในภาคใต้ของประเทศไทย
มีเอกลักษณ์เด่นในการร้องและการร่ายรำ
ซึ่งสะท้อนมรดกที่สืบทอดต่อกันมาของชาวบ้านรุ่นต่อรุ่น “โนรา”
ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะการแสดงอันวิจิตรงดงามที่ควรค่าแก่การเผยแพร่ให้ประชาคมโลกได้รับรู้
และเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก
ได้มีมติให้ขึ้นทะเบียน “โนรา”
ในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
การขึ้นทะเบียนในครั้งนี้จึงนับเป็นความภาคภูมิใจของไทย และถือเป็นการสร้างความตระหนักรู้ในระดับสากลต่อคุณค่าและความสำคัญของ “โนรา” ในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมด้านนาฏศิลป์ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภูมิภาคและในประเทศไทยด้วย รวมทั้งจะช่วยส่งเสริมบทบาทอันแข็งขันของชุมชนที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการเรียนรู้ เข้าถึง พัฒนา และสงวนรักษาประเพณีและศิลปะดังกล่าวไว้ให้แก่ชนรุ่นหลังต่อไป
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมโครงการผ่านทางลิงก์ https://forms.gle/nYgDnwjvWSBv4HHQ8 หรือแสกนผ่าน QR CODE ภายในวันที่ 25 มีนาคม 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา โทร. 074-260280 อีเมล์ culture@skru.ac.th.