“เกาะหลีเป๊ะ”ผู้ประกอบการขอชะลอบังคับใช้ ก.ม. รื้อโรงแรม 111 แห่ง

หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, สตูล, ทั่วไป,

อ่าน : 412
เกาะหลีเป๊ะ ผู้ประกอบการและธุรกิจบนเกาะหลีเป๊ะ
“เกาะหลีเป๊ะ”ผู้ประกอบการขอชะลอบังคับใช้ ก.ม. รื้อโรงแรม 111 แห่ง

สตูล- ผู้ประกอบการและธุรกิจต่อเนื่องการท่องเที่ยวบนเกาะหลีเป๊ะกว่า 400 คน ถือป้ายชุมนุมเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนให้ ”บิ๊กโจ๊ก”และคณะกรรมการแก้ปัญหาฯ หาทางช่วยเหลือโรงแรม 111 แห่ง และคนงานกว่า 4,500 คน วิงวอนขอให้หาทางการแก้กฎหมาย และชะลอการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อหาทางออกหากสามารถทำได้ 


       กลุ่มผู้ประกอบการ  และธุรกิจต่อเนื่องการท่องเที่ยวรวมทั้งแรงงาน  บนเกาะหลีเป๊ะกว่า 400 คน ชุมนุมบริเวณถนนคนเดิน เกาะหลีเป๊ะ ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2566 เพื่อเรียกร้องผ่านสื่อมวลชนไปยังพล.ต.อ.สุรเชษฐ์  หักพาล รอง ผบ.ตร.ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง กรณี ปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ที่ได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ผ่อนผันการรื้อถอนสถานประกอบการ ที่พัก บนเกาะหลีเป๊ะ ที่ไม่มีใบอนุญาต   ที่ผ่านมามีความพยายามในการยื่นขอจดทะเบียนมาอย่างต่อเนื่อง   แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จและยืนยันว่าทุกคนอยากจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย 


       ทั้งนี้ผู้ประกอบการและชาวบ้านส่วนใหญ่  ยืนยันว่าหากมีการบังคับใช้กฎหมายตามที่คณะกรรมการแก้ปัญหาข้อพิพาทบนเกาะหลีเป๊ะจะเร่งดำเนินการอยู่นั้น โดยไม่มีการพูดคุยสอบถาม  จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่บนเกาะโดยเฉพาะผู้ประกอบการซึ่งจะต้องเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก โดยมีการถือป้ายโปสเตอร์อย่ารื้อรีสอร์ต หาทางแก้กฎหมาย เพราะจะมีครตกงานกว่า 4,500 คน  ขณะเดียวกันร้านจำหน่ายสินค้าก็จะพลอยขายไม่ได้ไปด้วยซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว


       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ ขับไล่ผู้บุกรุกที่ดินของอุทยานแห่งชาติจำนวน 8 จุด  ล่าสุดกรมอุทยานฯ ได้มีคำสั่งให้มีการรื้อถอนพื้นที่ทั้งหมด  โดยมีการปักป้ายเตือนไปแล้ว ซึ่งมีเจ้าของ 3 รายยินยอมให้รื้อถอน ส่วนอีก 5 รายยังอยู่ระหว่างการฟ้องอุทธรณ์ 


       ด้านนายมุกตา บู่เอียด นายกสมาคมการค้าผู้ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า   ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้อพิพาทเรื่องที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะจนเป็นเหตุให้มีการตรวจสอบเอกสารที่ดินแปลงอื่นๆโดยบังคับใช้กฎหมายเต็มรูปแบบมาดำเนินการกับผู้ประกอบการนั้น   เหตุดังกล่าวได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการโรงแรมจำนวน 111 แห่งร้านค้า 250 แห่งรวมจำนวนผู้ประกอบการและลูกจ้างกว่า 4,500 คน  ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้และส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย   


       เกาะหลีเป๊ะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สร้างชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ  โดยในปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะผ่านท่าเทียบเรือปากบารา  อำเภอละงู  ราว 140,000 คน  มีทั้งคนไทยและต่างชาติสร้างรายได้ให้จังหวัดสตูลเกินกว่า 4 พันล้านบาทต่อปี เกาะหลีเป๊ะจึงเป็นแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก  เป็นแหล่งรายได้หลักให้แก่จังหวัดสตูล  และประเทศไทย  พร้อมยืนยันว่าผู้ประกอบการและชาวเลอุรักษ์ลาโว้ย  อยู่ร่วมกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยมาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี  ในช่วงเวลาที่วิถีชีวิตของชาวเลอุรักลาโว้ย เปลี่ยนไปผู้ประกอบการก็ยืนอยู่เคียงข้างไม่เคยเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม ทั้งการจ้างงาน  การสร้างอาชีพให้กับเรือหางยาวท้องถิ่นทดแทนการหาปลาในเขตอุทยาน  


       รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆบนเกาะหลีเป๊ะ  เช่นเดียวกับปัญหาเกี่ยวกับถนนสาธารณะ  ผู้ประกอบการได้จัดโครงการระดมทุนซื้อที่ดินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างถนนบรรเทาทุกข์เปิดเส้นทางเข้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเกาะหลีเป๊ะ  ที่มีทางเข้าออกลำบากและเส้นทางเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียนได้ใช้ทางลัดในการเข้าโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะทดแทนเดินอ้อมเข้าทางบริเวณด้านหน้าหาด โดยโครงการนี้สมาคมได้ขอความเห็นชอบกับหลายฝ่าย ทั้งโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะ  


       สมาคมได้จัดทำโครงการนี้ก่อนเกิดข้อพิพาท ซึ่งต้องการจะแสดงเจตนารมณ์ที่จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับชาวเลอุรักลาโว้ยมาโดยตลอด   นอกจากนี้ที่ผ่านมาสมาคมยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านในสถานการณ์โควิด 19 ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ได้ระดมทุนตั้งศูนย์ช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบระดมของบริจาค ทั้งถุงยังชีพยารักษาโรค เครื่องผลิตออกซิเจน  รวมถึงเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยวิกฤต   


       ผู้ประกอบการไม่เคยนิ่งนอนใจต่อปัญหาเอกสารสิทธิ์   ยินดีให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเอกสารซึ่งผู้ประกอบการนั้น   แท้จริงแล้วเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเอกสารสิทธิ์ที่มีความไม่ชัดเจนมาช้านานโดยหน่วยงานของรัฐได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด  แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้  เช่นคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 6/2562 เรื่องมาตรการส่งเสริมและพัฒนามาตรฐานการประกอบธุรกิจโรงแรมบางประเภทโดยรัฐมีนโยบายส่งเสริมการประกอบอาชีพสุจริตของชุมชน  เพื่อให้เศรษฐกิจมีความคล่องตัวเกิดการกระจายรายได้สร้างงาน   ขณะเดียวกันก็ลดความขัดแย้งในชุมชน   และจัดให้กิจการที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้องตามกฎหมาย


       อีกทั้งมีการบริหารจัดการที่ดี และมีการตรวจสอบควบคุมโดยรัฐซึ่งโอกาสนี้ให้ทางภาครัฐผ่อนผันการใช้มาตรการเข้มงวดทางกฎหมายที่จะนำมาใช้กับผู้ประกอบการบนเกาะหลีเป๊ะ   เพื่อรับผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวและรายได้ของผู้ประกอบการ  โดยขอให้ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์   หักพาล  รอง ผบ.ตร.ช่วยผลักดันนำร่างพระราชบัญญัติการปรับปรุงแก้ไขหรือยกเลิกกฎกระทรวงฉบับที่ 35 พุทธศักราช 2535 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคารพุทธศักราช 2522 การกำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารบางชนิดหรือบางประเภทบริเวณเกาะหลีเป๊ะ  และที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม   นำร่างฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่  เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและชาวเลอุรักษ์ลาโว้ย ที่อาศัยอยู่บนเกาะหลีเป๊ะร่วมกันมายาวนานกว่า 30 ปี ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างถูกต้อง


       พร้อมแสดงเจตจำนงบริสุทธิ์  ว่าผู้ประกอบการมิใช่คู่ขัดแย้งกับชาวเลเกาะหลีเป๊ะ  และหน่วยงานราชการ  แต่เป็นประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากข้อกฎหมาย   ที่ผ่านการดำเนินการจากหน่วยงานราชการมาหลายช่วงเวลา  จึงขอความเห็นใจมายัง  พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์    หักพาล   ชะลอการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดกับผู้ประกอบการ   ให้โอกาสผู้ประกอบการได้ดำเนินการให้ธุรกิจเข้าไปอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง  โดยขอผ่อนผันการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว  เพื่อลดความขัดแย้งในชุมชนภาครัฐ   สามารถเข้ามาควบคุมและตรวจสอบได้นักท่องเที่ยวได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ  และเป็นธรรมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวตลอดจนลดความขัดแย้งในสังคมไทย ซึ่งข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.