เลิกใช้กุ้งเอกวาดอร์สวมยี่ห้อ “เมดอินไทยแลนด์” เกษตรกรขอให้หยุดนำเข้ากุ้งเสี่ยงเสียชื่อ
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 12 ส.ค. 2565, 13:45 น. อ่าน : 662 กรุงเทพฯ - เกษตรกรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ตบเท้าเข้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล
ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ “หยุดนำเข้ากุ้ง” และยกการแก้ปัญหาโรคกุ้ง “เป็นวาระแห่งชาติ”
ช่วยเกษตรกรแก้วิกฤตปัญหาโรคระบาดในกุ้ง หลังไม่มีความคืบหน้าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อผลักดันผลผลิต 4 แสนตัน ในปี 2566 ตามเป้าหมายที่ “2 เฉลิมชัย” ทั้ง
“เฉลิมชัย สีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ “เฉลิมชัย
สุวรรณรักษ์” อธิบดีกรมประมง ให้สัญญาไว้กับเกษตรกร
วันนี้กลับไม่มีนโยบายฟื้นฟูอุตสาหกรรมกุ้งและความช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม
แถมยังกำหนดแผนนำเข้าวัตถุดิบกุ้งทะเลจากเอกวาดอร์และอินเดียสำหรับแปรรูปเพื่อส่งออก
ที่มีการกันโควตาไว้ถึง 10,501 ตัน
โดยที่เกษตรกรไม่เคยรู้มาก่อน
ทั้งที่กุ้งเอกวาดอร์เคยถูกไทยแบนไปหนึ่งปีเพราะปัญหาโรคกุ้ง
แม้เจ้ากรมฯจะบอกว่า
ที่ผ่านมามีการนำเข้าจากเอกวาดอร์เพียง 41.95 ตัน
มูลค่า 10.24 ล้านบาท
แต่เงินจำนวนนี้ควรจะหมุนเวียนสู่เกษตรกรไทย ไม่ใช่สนับสนุนผลผลิตของต่างชาติ
ที่สำคัญไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตกุ้งได้เอง
ทั้งเพื่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก
จึงไม่จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ (Zero Import)
การแถลงข่าวของอธิบดีกรมประมงที่บอกว่า
บางช่วงที่การเลี้ยงกุ้งได้ยาก สภาพอากาศไม่เหมาะสม เกษตรกรไม่ต้องเลี้ยง
เพราะว่าขายผลผลิตได้ในราคาที่พอใจ ถือโอกาสพักบ่อบ้างเพื่อไม่ให้เกิดโรค
ช่วยลดการสูญเสียหรือเสียหายในการเร่งการผลิต
และถ้าโรงงานแปรรูปมีการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง จะทำให้มีความมั่นคงด้านการตลาด
ถ้อยแถลงนี้ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมถึงนำเข้ากุ้งมาอุ้มโรงงานแปรรูป
จนมองข้ามผลกระทบต่อเกษตรกรกว่า 4 หมื่นราย ใน 35 จังหวัด เพราะหากไม่เลี้ยงกุ้งแล้วเขาจะเอาอะไรกิน
แม้ท่านจะไม่สันทัดเรื่องโรคกุ้ง แต่ก็สามารถเสาะหาแนวทาง เทคนิค วิธีการ นวัตกรรม
ทั้งการป้องกันโรคและกระบวนการเลี้ยง
เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงกุ้งได้อย่างยั่งยืน ปลอดโรค ปลอดภัย
จะได้จูงใจให้ผู้เลี้ยงสามารถผลิตกุ้งได้ตามเป้า
การนำเข้ากุ้งสะท้อนความคิดง่ายๆ
แม้ว่าในระยะสั้นจะเห็นผลลัพธ์ทันทีว่าโรงงานมีวัตถุดิบกุ้งนำมาแปรรูปสำหรับส่งออก
แต่ผลในระยะยาว “ไม่คุ้มค่า” และ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เพราะซากกุ้งที่นำเข้ามา
อาจมีไวรัสที่เกิดในประเทศต้นทางหลบซ่อนอยู่
จนเกิดเป็นโรคอุบัติใหม่ ซ้ำเติมวิกฤติโรคตายด่วน (EMS)
ที่สร้างความเสียหายแก่กุ้งไทยมานานกว่า 10 ปี
ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหา
ทำให้ไทยเสียท่าจากนัมเบอร์วันกุ้งโลก หล่นมาอยู่อันดับ 6
โดยมีเอกาวดอร์ขึ้นมาเป็นแชมป์ใหม่แทน และอินเดียก็กำลังไต่ระดับมาติดๆ
เกษตรกรฝากทวงถาม
“เฉลิมชัย” เจ้ากระทวงเกษตรฯ คิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดของ “เฉลิมชัย” เจ้ากรมประมง
เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรต้องทำตามมาตรฐาน ต้องลงทุนป้องกันโรค เพื่อสร้างชื่อ
“กุ้งไทย” แบรนด์กุ้งพรีเมียมที่ปักธงในตลาดโลก ยังไม่นับการต้องต่อสู้กับ NGOs
หลายกลุ่ม เพื่อให้ชาวโลกมีความเชื่อใจและมั่นใจในคุณภาพ
แต่การนำกุ้งนอกมาพะยี่ห้อ “เมดอินไทยแลนด์” ผู้ซื้อต่างชาติจะมองไทยอย่างไร
ที่ผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทยแต่ไม่ได้เลี้ยงในไทย ไม่มีมาตรการกำกับควบคุม
ไม่ได้มีต้นทุนเหมือนเกษตรกรไทย เรื่องนี้นอกจากจะไม่ใกล้คำว่า “ความมั่นคงอาหาร”
ตามนโยบายของรัฐมนตรีแล้ว ยัง “ไม่ยั่งยืน” และ “สร้างความอ่อนแอ” ให้กับอุตสาหกรรมกุ้งอย่างที่สุด
รัฐบาล “อย่าชักศึกเข้าบ้าน” ไปสนับสนุนคู่แข่งให้ยิ่งเข้มแข็ง “ต้องเลิกนำเข้ากุ้งทันที” แล้วหันมาเร่งบูรณาการแก้ปัญหาตั้งแต่รากฐานคือเรื่องโรคกุ้ง เชิญคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย นักวิชาการ มาระดมความคิดและหาแนวทางแก้ปัญหาให้ชัดเจน มีการส่งเสริมการเลี้ยงที่เหมาะสมกับเกษตรกรในแต่ละกลุ่มที่มีความหลากหลาย มีสินเชื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพ นี่ต่างหากที่เป็น “ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของจริง”...
ผู้เขียน ศุภษร
แววปราชญ์ นักวิชาการสัตว์น้ำ