โชเฟอร์แท็กซี่อ่าวนางพลิกชีวิต ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขาย ยอดสั่งอื้อ

หมวดหมู่ : กระบี่, ทั่วไป,

อ่าน : 565
โชเฟอร์แท็กซี่อ่าวนาง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์
โชเฟอร์แท็กซี่อ่าวนางพลิกชีวิต ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ขาย ยอดสั่งอื้อ

กระบี่-โชเฟอร์แท็กซี่อ่าวนาง ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ส่งขายหารายได้เสริมอีกทาง ยอดออเดอร์ไม่ขาดสาย


     เรื่องราวของคนขับรถแท็กซี่สู้ชีวิตรายนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านเลขที่ 27 หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ซึ่งเป็นบ้านของนายดลเหล๊าะ เส็นหนูมาน อายุ 39 ปี อาชีพขับรถแท็กซี่รับ นักท่องเที่ยวในหาดอ่าวนาง หลังทราบว่าที่บ้านดังกล่าว ปลูกสร้างโรงเรือนสำหรับปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ไว้ส่งขายภายใต้ชื่อ“สวนผักรอนีย์” พบภายในโรงเรือน มีแปลงเพาะปลูกผักหลากหลายชนิด ที่กำลังผลิบานอย่างสวยงามเต็มพื้นที่ ผักที่ปลูกไว้ มีทั้งผักกรีนโอ๊ค กรีนคอส ฟิลเล่ เรดโอ๊ค บัตเตอร์เฮด เป็นต้น 


    ส่วนนายดลเหล๊าะ พร้อมกับภรรยา กำลังช่วยกันเก็บผักเตรียมส่งให้ลูกค้าตามออเดอร์ ซึ่งแต่ละวันจะมีออเดอร์เข้ามาตั้งแต่ 10-20 ก.ก. ราคาขายส่งเริ่มตั้งแต่ ก.ก.ละ 120 บาทขึ้นไป แล้วแต่ชนิดของผัก จะมียอดสั่งเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จนปลูกส่งขายกันแทบไม่ทัน เพราะกระแสคนบริโภคผักเพื่อสุขภาพกำลังมาแรง ซึ่งที่นี่จะปลูกแบบปลอดสารพิษ แต่สร้างโรงเรือนป้องกันแมลงเข้ามากัดกินในแปลงผัก ลูกค้าส่วนใหญ่จะนิยมนำไปทำผักสลัด หรือประกอบอาหารหลากหลาย ลูกค้าของที่นี่จะมีทั้งลูกค้าทั่วไป ไปจนถึงกลุ่มร้านอาหารในย่านการค้าหาดอ่าวนาง ช่องทางขายจะประกาศขายผ่านทางเฟซบุ๊กชื่อ "สวนผักรอนีย์" หรือเฟซบุ๊กดลเหล๊าะ เส็นหนูมาน หรือจะโทรศัพท์ไปสอบถามได้ที่เบอร์ 080-396-3631 


     นายดลเหล๊าะ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีการขยายแปลงผักเพิ่มจากแปลงเดิม เพราะมีออเดิอร์เข้ามาไม่ขาดสาย โดยใช้พื้นที่ว่างในสวนหลังบ้านปรับเป็นโรงเรือน จากที่ปลูกมาพบว่า ปัจจุบันผักสลัดเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะร้านอาหารยุโรป ตอนนี้ผลผลิตแทบไม่พอต่อความต้องการของตลาด จากเดิมตนวิ่งแท็กซี่ย่านอ่าวนางเป็นอาชีพหลักแต่เพราะตนกับภรรยาชอบกินผักสลัด จึงเป็นจุดเริ่มต้นปลูกไว้กินเอง ต่อมาเริ่มเรียนรู้และมีทักษะมากขึ้น จึงขยายพื้นที่ปลูกกิน และเริ่มส่งขายไปด้วย ปรากฎว่ามีลูกค้าติดต่อซื้อผักมาอย่างต่อเนื่อง จนต้องขยายโรงเรือนเพิ่ม ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เป็นรายได้เสริมจากการวิ่งแท็กซี่ ที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ทุกวันนี้ทำอาชีพเพียงอาชีพเดียวไม่พอ ต้องหารายได้เสริม และเชื่อว่าความต้องการผักประเภทนี้ จะยังคงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ต่อไปอาจกลายเป็นอาชีพหลักของตนก็ได้.








อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :