โวยให้ถอด”กระบี่”ออกจากพื้นที่ทำเหมืองแร่ เป็นแหล่งต้นน้ำ-ประวัติศาตร์

หมวดหมู่ : กระบี่, ทั่วไป,

อ่าน : 717
กระบี่ 4 อำเภอ ยื่นหนังสือวอน รมว.อุตสาหกรรม ถอด จ.กระบี่ ออกจากพื้นที่ทำเหมืองแร่
โวยให้ถอด”กระบี่”ออกจากพื้นที่ทำเหมืองแร่ เป็นแหล่งต้นน้ำ-ประวัติศาตร์

กระบี่-ตัวแทนชาวกระบี่ 4 อำเภอ ยื่นหนังสือวอน รมว.อุตสาหกรรม ถอด จ.กระบี่ ออกจากพื้นที่ทำเหมืองแร่ ในการทำแผนแม่บท โดยยื่นหนังสือผ่านอุตสาหกรรมจังหวัด โวยหน่วยงานที่ทำแผนแม่บทไม่รู้พื้นที่ว่า เป็นแหล่งประวัติศาสตร์ และเป็นแหล่งลำธารต้นน้ำใต้ดิน ยืนยันจะต่อสู้จนถึงที่สุด


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสายวันที่ 11 ส.ค.กลุ่มตัวแทนชาวบ้านคนรักษ์เขา จาก 4 อำเภอ จ.กระบี่ ประกอบด้วย อ.อ่าวลึก อ.ปลายพระยา อ.เมือง และ อ.ลำทับ รวมกว่า 20 คน นำโดยนายพิศิษฐ์ เป็ดทอง ตัวแทน อ.ลำทับ เข้ายื่นหนังสือถึง รมว.อุตสาหกรรม ผ่าน จนท.ของ สนง.อุตสาหกรรม จ.กระบี่ เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาถอดถอน จ.กระบี่ ออกจากแผนแม่บทแร่ โดยตัวแทนชาวบ้าน ระบุรายละเอียดในหนังสือว่า ตามที่ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ เพื่อบริหารจัดการแร่ในประเทศไทย โดยมีแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ โดยกำหนดให้พื้นที่ จ.กระบี่ สามารถจัดกิจกรรมเกี่ยวกับแร่ได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ 4 อำเภอ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นแหล่งภูเขาหินปูน ซึ่งหลายแห่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และยังสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ในอนาคต กลุ่มชาวบ้านจึงต้องการให้กระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณาเพิกถอน จ.กระบี่ ออกจากแผนแม่บทดังกล่าว ต่อมาตัวแทน สนง.อุตสาหกรรม มารับหนังสือจากชาวบ้าน เพื่อนำไปรายงานต่อยังกระทรวงฯ รับทราบต่อไป


นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า เหตุที่ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องคัดค้านในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา หากพื้นที่ใดปล่อยให้มีการระเบิดหิน ทำเหมืองแร่ หรือโรงโม่หิน จะส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่ทรงคุณค่าของแต่ละพื้นที่ นอกจากนี้บางแห่งยังเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ มีระบบนิเวศน์ที่ยังสมบูรณ์ สามารถเป็นแหล่งน้ำสำคัญของ จ.กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งบางจุด ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งการค้นเจอภาพเขียนสีโบราณตามถ้ำหลายแห่ง การค้นเจอฟอสซิลเครื่องปั้นดินเผา กระดูกมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางด้านโบราณคดี หากปล่อยให้พื้นที่เหล่านี้ถูกทำลายไป ถือเป็นเรื่องที่เสียหายต่อชาวบ้านในพื้นที่ และยังเสียหายต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมด้วย


นายพิศิษฐ์ กล่าวอีกว่า ลักษณะภูเขาของ จ.กระบี่ เป็นภูเขาที่มีลักษณะที่มีถ้ำและภาพเขียนโบราณ วัตถุโบราณที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สูงยิ่ง ไม่เพียงเป็นมรดกของจังหวัดกระบี่แต่ยัง เป็นมรดกของมนุษยชาติ การที่แผนแม่บทแร่โดยหน่วยงานราชการกำหนดพื้นที่โดยไม่ศึกษาอย่างรอบคอบ ถือเป็นความมักง่ายของหน่วยงานที่จงใจทำลายหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่านี้ ถ้ำใน จ.กระบี่ จึงเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ควรหรือไม่ที่หน่วยงานรัฐซึ่งใช้ภาษีประชาชนจะหยิบยื่นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์นี้ให้เอกชน เพียงไม่กี่รายหากำไรบนการทำลายครั้งสำคัญนี้ 


กลุ่มตัวแทนชาวบ้าน จึงยื่นข้อเรียกร้อง 2 ข้อ 1.ให้ชะลอการอนุญาตให้ทำแร่ใดๆ ในพื้นที่ 4 อำเภอของจ.กระบี่ เอาไว้ก่อน ทั้งที่ได้ดำเนินการขั้นใดขั้นหนึ่งไปแล้ว และพื้นที่ที่ยังไม่ดำเนินการใด 2.ตามหลักการของแผนแม่บทแร่ ให้ประยุกต์ใช้หลักการประเมินสิ่งแวดล้อม ระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ในการจัดทําแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2565–2569) ในระดับที่เหมาะสมและเป็นไปได้


“ข้อเสนอทั้ง 2 ข้อ เป็นข้อเสนอบนหลักการวิชาการที่ถูกต้อง หากหน่วยงานรัฐ ยืนยันว่าไม่ต้องสนใจศึกษาข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการทำลายธารต้นน้ำใต้ดิน และการเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ หลักฐานและโบราณคดีในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.กระบี่ เครือข่ายประชาชน จ.กระบี่ จะตอบโต้ทุกวิถีทางเพื่อรักษาแผ่นดินนี้ไว้ให้กับลูกหลานและคนไทยทุกคน โดยจะใช้วิธีการต่อสู้ตามวิถีทางของวิชาการ จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐจะเลือกทางสันติหรือทางขัดแย้ง” นายพิศิษฐ์กล่าว.






อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :