ไทย-มาเลย์ เดินหน้าสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ เสร็จปี 2569

หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,

อ่าน : 462
เจรจาไทย-มาเลเซีย พร้อมทำถนนเชื่อมต่อสะเดา-บูกิตกายูฮีตัม
ไทย-มาเลย์ เดินหน้าสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ เสร็จปี 2569

สงขลา-เจรจาไทย-มาเลเซีย พร้อมทำถนนเชื่อมต่อสะเดา-บูกิตกายูฮีตัม หวังก่อสร้างแล้วเสร็จใน 1 ปี 6 เดือน เปิดใช้ตามแผนปฏิบัติการ 2569 นี้ หลังสร้างด่านฯ เสร็จ แต่ไม่สามารถเปิดใช้งานได้กว่า 5 ปี


เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 พ.ค.66 นายชนธัญ  แสงพุ่ม รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคฝ่ายไทย นำคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคฝ่ายไทย ไปร่วมประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Expert Working Group-EWG) ร่วมไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮีตัม เพื่อเป็นการพัฒนาเมืองชายแดนให้มีความเจริญรุ่งเรืองด้านเศรษกิจในอนาคต ที่โรงแรมพัลส์ แกรนด์ ปุตราจายา ประเทศมาเลซีย


ผู้เข้าร่วมประชุมฝ่ายไทยประกอบด้วย นายกองเอก พุทธ  กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  นายไพเจน  มากสุวรรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา นายเผดิมเดช  มั่งคั่ง นายด่านศุลกากรสะเดา พันเอก จีระศักดิ์  บรรเทิง แม่กองสนามจัดทำหลักเขตแดนไทย – มาเลเซีย กรมแผนที่ทหาร ดร.ดนัย  เรืองสอน ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการทางหลวงระหว่างประเทศ กรมทางหลวง ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี เออร์ โมห์ดแฟรรุซ บิน มูฮัมหมัด ผู้อำนวยการกองแผนงานทางหลวง กระทรวงโยธาธิการ ประเทศมาเลเซีย เป็นประธานฝ่ายประเทศมาเลเซีย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับและร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย


การประชุมดังกล่าว ที่ประชุมฯ มีการอภิปราย ประเด็นปัญหาที่ยังคงค้างจากการประชุมที่ผ่านมา อาทิ จุดเชื่อมต่อถนนไทย-มาเลเซีย ยังไม่ตรงกัน มุมของทางต่อยังไม่ขนานกัน ฯลฯ โดยฝ่ายไทยได้มีการนำคณะทำงานฝ่ายไทย ลงศึกษาพื้นที่จริงแล้วสำรวจเพื่อออกแบบตามข้อเสนอของมาเลเซียช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามแบบของมาเลเซียโดยไม่มีผลกระทบในเชิงวิศวกรรมและเขตชายแดนของประเทศไทยแต่อย่างใด 


ดังนั้นในที่ประชุม EWG ครั้งที่ 2 นี้ ที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของประเทศมาเลเซีย เพื่อปรับปรุงแบบ รวมทั้งข้อห่วงใยร่วมกันให้มีความสอดคล้องกัน โดย จำนวน 4 ประเด็น ประกอบด้วย 


1. ปรับแบบถนนเชื่อมต่อด่านทั้งสอง โดยยังคงไว้ที่จุดเชื่อมต่อที่ BP23/9 – 23/10 จํานวน 6 ช่องจราจร เพื่อให้เป็นไปตามความร่วมมือตามที่นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียและประเทศไทย ได้มีการประชุมหารือร่วมกันเมื่อวันที่9-19 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา 


2. ปรับแนวถนนเชื่อมต่อกับตําแหน่งศูนย์กลางของถนน (Center Line and Angel) ระหว่างหลักเขตแดน ที่23/9 ถึงหลักเขตแดนที่ 23/10 มีระยะทาง 83.88 เมตร ให้มีขนาดเท่ากันระหว่าง 2 ประเทศ และ 


3. ปรับมุมองศาเเนวถนนของฝ่ายไทยใช้ 108 องศา ให้สอดคล้องทางมาเลเซียให้ 129 องศา ซึ่งการบรรจบของ Center Line ฝั่งมาเลเซียจะไม่ตรงกับฝั่งไทย มีระยะห่างประมาณ 1.07 เมตร ทั้งนี้แนว Alignment ที่จะต้องปรับแนวของฝั่งไทยอาจเกิดข้อจํากัดในเรื่องของรัศมีโค้งที่ติดกับเส้นแบ่งเขตแดน จึงเสนอให้ทั้งสองประเทศจำกัดความเร็วก่อนถึงเขตเเดนโดยปรับลดจาก 80 km/hr. เหลือเพียง 50 – 60 km/hr.


นอกจากนี้ ที่ประชุมทางฝ่ายมาเลเซีย หารือกรอบระยะเวลาร่วมกันในการสำรวจเพิ่มเติม รวมทั้งการปรับปรุงรายละเอียดย่อย ซึ่งจะมีการกำหนดหารือวงย่อยกันให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน โดยเริ่มตั้งเเต่เดือนมิถุนายนกำหนดให้คณะทำงานฝ่ายเทคนิคไทยและมาเลเซียเดินทางไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบพื้นที่จริงก่อนจะนำไปออกแบบทางวิศวกรรมอีกครั้งหนึ่ง และกำหนดประชุม  คณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (Expert Working Group: EWG) ร่วมไทย - มาเลเซีย ครั้งที่ 3 โดยเร็วเพื่อเห็นชอบแบบและแผนการดำเนินการพร้อมกรอบระยะเวลาต่อจากนี้ โดยกำหนดกรอบคร่าว ๆ ไว้ที่ 1 ปี 6 เดือน แต่อย่างไรก็ตามอาจจะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง กรอบการดำเนินงานก็อยากให้คงไว้ที่ 1 ปี 6 เดือน และในระหว่างนี้ ทั้ง 2 ปนะเทศ จะได้มีการหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งจัดทำเป็น MOA ระหว่างสองประเทศโดยให้รัฐบาลเป็นผู้มอบหมายผู้ลงนาม 


ด้านฝ่ายประเทศไทย ได้มีข้อเสนอให้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับการบริหารการพัฒนาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมกับหน่วยงานที่มีบทบาทและอำนาจหน้าที่ จะเป็นหน่วยในการจัดทำ MOA และพิจารณาเสนอต่อรัฐมนตรีเจ้าสังกัดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อให้เร่งรัดโครงการก่อสร้างถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่กับด่านบูกิตกายูฮีตัม ให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด และการประชุมในวันนี้ได้มีการชี้แจงประเด็นทางเทคนิคและคำถามที่แต่ละฝ่ายอาจมีเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน ยิ่งทำโครงการฯ เสร็จเร็วเท่าไหร่ ประชาชนทั้ง 2 ประเทศก็จะได้รับประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกที่กำลังจะเกิดขึ้นในการเชื่อมต่อนี้เร็วขึ้นเท่านั้น   


อนึ่ง การจัดประชุมวันนี้เป็นการจัดประชุมที่ได้ข้อยุติอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการเตรียมการของทั้งสองฝ่ายมาเป็นอย่างดี จึงแล้วเสร็จบรรลุผลข้อตกลงความร่วมมือ ในการออกแบบ และแผนปฏิบัติการร่วมกันที่จะเกิดขึ้น ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป โดยทั้งสองฝ่าย ให้ความสำคัญว่า การพัฒนาจุดเชื่อมต่อบริเวณด่านการค้าชายแดนของทั้ง 2 ประเภท จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาเศรษฐกิจและมิตรสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตามที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง และจะทำให้เกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจพื้นที่ในระยะต่อไปโดยเร็ว.








อ่านข่าวที่เกี่ยงข้อง :