1 ใน 24 ผู้ต้องหาร้อง ส.ส.ตรวจสอบทุจริตสหกรณ์ ตร.ทั้งขบวนการ

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป,

อ่าน : 1,132
1 ใน 24 ผู้ต้องหาร้อง ส.ส.ตรวจสอบทุจริตสหกรณ์ ตร.ทั้งขบวนการ

พัทลุง-1ใน 24  ผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง พร้อมตัวแทนสมาชิก  ยื่นหนังสือถึง“ส.ส.นริศ“ ขอให้กรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร  ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง  เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย


คดีทุจริตโกงเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจพัทลุง จำกัด วงเงินไม่น้อยกว่า 1,450 ล้านบาท ซึ่งทำกันเป็นขบวนการ โดยพนักงานสอบสวนของสตช.,บก.ภ.จว.พัทลุง และ บช.ภ.9 ได้รวบรวมสำนวนการสอบสวน เอกสารและหลักฐาน ไปยื่นขอหมายจับต่อศาลจังหวัดพัทลุงเมื่อตอนเย็นวันที่ 2 มิถุนายน 2565 และศาลฯได้อนุมัติหมายจับกลุ่มผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวแล้วจำนวน 24 คน  แต่ยังไม่มีการเผยรายชื่อลงในระบบข้อมูลอาชญากรรมแต่อย่างใดในส่วนของ  พ.ต.อ.ชำนาญ  คงชู    อดีต ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานตรวจสอบสำนวนคดี กองบังคับการกฎหมายและคดี ภ.9  ออกมาน้อมรับในกระบวนการยุติธรรม และพร้อมพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในกระบวนการยุติธรรมตามข่าวที่เสนอมาต่อเนื่องนั้น


ความคืบหน้าคดีนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อตอนสายวันที่ 5 พ.ค.2565 ที่ร้านน้ำชาครูแพระ ริมถนนมโนราห์(บายพาส) ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง  ตัวแทนของคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ฯ ประกอบด้วย  พ.ต.อ.ชำนาญ  คงชู  1 ใน 24  ที่ศาลจังหวัดพัทลุงได้ออกหมายจับในคดีทุจริตสหกรณ์ฯ  พ.ต.ท.วิสุทธิ์  ข้องจิตร์  รอง  ผกก.(ป) สภ.เขาชัยสน  จ.พัทลุง  ร.ต.อ.ธนเวทย์  ปัตตังถาโต  หน.เก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด (EOD)  ภ.จว.พัทลุง ได้นำหนังสือร้องทุกข์ขอความเป็นธรรมต่อนายนริศ ขำนุรักษ์  ส.ส.พัทลุง พรรค  ปชป. ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร  เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ได้เข้ามาสำรวจตรวจสอบการบริหารงานในสหกรณ์ฯในด้านต่างๆว่ามีเงื่อนงำ  สลับซับซ้อน  มากน้อยแค่ไหน  รวมทั้งบุคคลและกลุ่มบุคคลที่น่าจะอยู่เบื้องหลังในการทุจริตสหกรณ์ฯในครั้งนี้  ซึ่งนายนริศฯจะได้นำหนังสือการร้องทุกข์ฯดังกล่าว ไปยื่นต่อประธานกรรมาธิการฯ เพื่อนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการร้องเรียนในครั้งนี้โดยเร่งด่วนต่อไป


พ.ต.อ.ชำนาญ กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ  3  ฝ่ายนั้น ตนทราบว่าผู้ต้องหาคนสำคัญในคดีดังกล่าวได้รับสารภาพแบบหมดเปลือก รวมทั้งระบุว่าเงินที่ได้จากการทุจริตได้นำไปใช้อย่างไรบ้าง  มีใครบ้างที่มีส่วนรู้เห็นในครั้งนี้  แต่สำนวนการสอบข้อเท็จจริงของผู้ต้องหาคนสำคัญดังกล่าวนี้น่าจะไม่มีการนำมาใช้ในการสอบสวนในครั้งนี้แต่อย่างใด เนื่องจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของ บก.ภ.จว.พัทลุง  ก็เพิ่งได้เห็นสำนวนการสอบสวนดังกล่าวหลังจากที่มีการสอบสวนใกล้จะจบกระบวนความแล้ว  และการสอบสวนดังกล่าวไม่ได้นำการสืบสวนมาใช้แต่อย่างใด  และขอให้มีการสอบข้อเท็จจริงกรณีที่มือดีรายหนึ่งได้นำผลการสอบปากคำผู้ต้องหาคนสำคัญคนดังกล่าวออกจากสำนวนการสอบสวนด้วยว่าเป็นความจริงหรือไม่  ในส่วนของตนนั้นจะเข้ามอบตัวตอพนักงานสอบสวนในวันที่ 6 มิถุนายน 2565


ทางด้านสมาชิกสหกรณ์ฯรายหนึ่ง เผยว่า ตนอยากเห็นการตรวจสอบเส้นทางการเงินของผู้ตกเป็นผู้ต้องหาทุกราย  รวมทั้งผู้เกี่ยวของกับสหกรณ์ฯทุกราย  ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย  อย่างไรก็ตามตนก็มีความสงสัยว่าการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีมูลค่าความเสียหายน้อยกว่าสหกรณ์ฯตำรวจนั้น  ทำไมหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจึงได้เร่งรัดคดีโดยการยึดทรัพย์กลุ่มผู้ต้องอย่างเร่งด่วน  แต่การทุจริตเงินสหกรณ์ฯที่มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า  1,450 ล้านบาท จึงไม่มีการยืดทรัพย์กลุ่มผู้ต้องหา  จำนวน  8  ราย  ที่ถูกแจ้งความไปแล้วเมื่อวันที่ 14  สิงหาคม 2564 ยึดได้เพียงเงินสดในบัญชีธนาคารเพียงประมาณ 2.6  ล้านบาทเท่านั้น  ส่วนกลุ่มผู้ต้องหาก็ยังลอยนวลอยู่ถึงขณะนี้  และผู้ต้องหาคนสำคัญก็ได้หลบหนีไปกบดานในต่างจังหวัดหลังเรื่องฉาวโฉ่เกิดขึ้น  และตนก็เห็นด้วยกับการยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อนายนริศฯในครั้งนี้  โดยเฉพาะการตรวจสอบข้อเท็จจริงการฟอกเงินในสหกรณ์ฯที่เป็นเรื่องฉาวโฉ่กันนั้นขณะนี้


ทีมข่าวไทยแหลมทอง ซึ่งทำงานร่วมกับผู้สื่อข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลโดยเชิงลึกของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง  พบว่าน่าจะมีการฟอกเงินเกิดขึ้นในสหกรณ์ฯ เนื่องจากพบว่าในก่อนหน้านี้ประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีกระแสเงินไหลมาในสหกรณ์ฯของผู้เกี่ยวข้องในสหกรณ์ฯบางรายอย่างผิดปกติ โดยเพฉาะในปี พ.ศ.2559 – 2563 มีเงินเข้ามาของสมาชิกสหกรณ์ฯบางราย ประมาณ 100 ราย ประมาณ500 – 600 ล้านบาท ซึ่งปกติแล้วหากมีเงินจากภายนอกเข้าสู่ระบบสหกรณ์ฯตั้งแต่  1 ล้านบาทขึ้นไปทาง จนท.สหกรณ์ฯก็จะต้องแจ้งธุรกรรมการเงินให้ ป.ป.ง. ให้รับทราบตลอดเวลา หรือหากเงินเข้าที่ต่ำกว่านั้นตั้งแต่ 5 แสนบาทบาทขึ้นไป หากมีข้อสงสัยที่ไปที่มาของเงินดังกล่าวก็จะต้องแจ้งให้ ป.ป.ง. ทราบเช่นกัน   ซึ่งเป็นเรื่องของทุกฝ่ายที่จะต้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย ข่าวคืบหน้าจะเสนอต่อไป.