CPF หนุน 7 คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 30 ก.ค. 2564, 19:45 น. อ่าน : 1,674 บริษัท
เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ส่งเสริมหน่วยธุรกิจในองค์กร
นำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ดำเนินงาน
ชูคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่งทั่วประเทศ บริหารจัดการทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด
และลดของเสียในกระบวนการผลิต
โชว์ความสำเร็จระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่หรือไบโอแก๊ส (Biogas) ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าใช้เอง ลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ 85% และในปี 2563
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 113,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นายสมคิด วรรณลุกขี
รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่
เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา
นอกจากให้ความสำคัญในเรื่องกระบวนการผลิตที่สะอาดและปลอดภัย เพื่อส่งมอบสู่ผู้บริโภคแล้ว
ยังนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้บริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตลอดห่วงโซ่การผลิต ลดของเสียในกระบวนการผลิต
รวมไปถึงการนำของเสียกลับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในกระบวนการเลี้ยงไก่ มีการจัดการของเสีย ด้วยระบบการผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่ หรือไบโอแก๊ส (Biogas)
ช่วยลดกลิ่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ
และยังได้พลังงานสะอาดจากกระบวนการหมักก๊าซมีเทนเปลี่ยนน้ำเสียเป็นไบโอแก๊ส
สามารถนำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในคอมเพล็กซ์ ช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าถึง
65-85% โดยในปี 2563 คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ 7 แห่ง
สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้กว่า 103 ล้านบาท และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า
113,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
หลังจากกระบวนการหมักในระบบไบโอแก๊ส
จะมีน้ำหลังการบำบัดที่โดยปกติจะไม่มีการปล่อยออกสู่ภายนอก สามารถใช้หมุนเวียนไปผสมกับมูลไก่ในระบบฯได้อีกครั้ง
โดยไม่จำเป็นต้องใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ ส่วนกากไบโอแก๊ส
ที่เกิดจากกระบวนการหมักและบำบัด มีเกษตรกรที่ขอไปใช้ประโยชน์ในการปรับสภาพดินก่อนที่จะปลูกพืช หรือทำนา
ส่วนน้ำหลังการบำบัด ซึ่งเป็นน้ำที่มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เป็นน้ำปุ๋ยที่มีแร่ธาตุเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงนำไปใช้ในไร่ สวน
ช่วยให้ผลผลิตเติบโตได้ดี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น และช่วยลดค่าปุ๋ยเคมี
นอกจากนี้
คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้ง 7 แห่ง มีโครงการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
ซึ่่งได้ผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยสามารถช่วยลดปริมาณไข่ที่ไม่ได้มาตรฐาน อาทิ
ไข่ร้าว ไข่ซีด ไข่บุบ ฯลฯ
รวมไปถึงยังช่วยลดต้นทุนและลดของเสียที่เป็นภาระต้องกำจัดได้
นายสมคิด
กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ในการจัดการของเสีย อาทิ ไข่ที่แตกจากกระบวนการผลิต ทั้งน้ำไข่ผสมเปลือก และน้ำไข่เสื่อมสภาพ
มีการบริหารจัดการ โดยจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์
หรือนำไปทำเป็นอาหารเลี้ยงปลา เป็นต้น เป็นการช่วยลดปริมาณขยะฝังกลบ
และขยะที่ต้องกำจัดลงได้
ในส่วนของเปลือกไข่ไก่ที่เกิดจากกระบวนการแปรรูปไข่ โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก ได้ดำเนินโครงการ “ปุ๋ยอินทรีย์จากเปลือกไข่บด” นำเปลือกไข่ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตปีละประมาณ 1,000 ตัน มาบดเพื่อแบ่งปันให้เกษตรกรใช้เป็นปุ๋ย ช่วยลดต้นทุนทางการเกษตร เป็นการสร้างประโยชน์สูงสุดในการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ.