DSI สนธิกำลัง ค้นเป้าหมายฉ้อโกงชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม
หมวดหมู่ : ตรัง, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 10 พ.ย. 2565, 19:30 น. อ่าน : 508ตรัง-ดีเอสไอ สนธิกำลังตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่ จ.ตรัง หลังพบเอกสารโอนรถเอี่ยวห้างหุ้นส่วนเชื่อมโยงฉ้อโกงและยักยอกทรัพย์ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ คาดมูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 10 พ.ย.65 ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ ผอ.กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ ดีเอสไอสนธิกำลังตำรวจ สภ.เมืองตรัง นำหมายค้นศาลจังหวัดตรัง เข้าตรวจสอบห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่ง จำนวน 2 จุด จุดแรกที่บ้านถนนจริงจิตร ต.ทับเที่ยง อ.เมืองตรัง จุดที่ 2 ที่บ้านถนนบางรัก ต.ทับเที่ยงอ.เมืองตรัง หลังพบหลักฐานเกี่ยวข้องในคดีพิเศษที่ 215/2565 กรณี การทุจริตและยักยอกทรัพย์ในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันกระบี่ จำกัด ซึ่งมีผู้ที่ได้รับผลกระทบประมาณ 20,000 ครัวเรือน มีมูลค่าความเสียหายโดยรวมจำนวนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 ส.ค.ที่ผ่านมา ทางดีเอสไอได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดกระบี่ เข้าตรวจค้นบริษัท กระบี่วิเศษน้ำมันปาล์ม จำกัด (โรงงานสาขาคลองท่อม) และได้ทำการยึด/อายัดโรงงาน รวมทั้งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อันเกิดจากการซื้อขายโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมหลายรายการ
จากการตรวจค้นในครั้งนี้ มีการลงพื้นที่ทั้งหมด 5 จุด แบ่งเป็นใน จ.กระบี่ 3 จุด และ จ.ตรัง อีก 2 จุด ในส่วนของพื้นที่ จ.ตรัง จากการตรวจสอบหลักฐานพยานก่อนหน้านี้ ปรากฎถึงนิติบุคคลซึ่งปรากฎข้อมูลว่า ผู้บริหารของชุมนุมสหกรณ์ฯ ที่เป็นผู้ต้องหาในคดี มีการนํารถส่วนตัวของตนมาเข้าร่วมรับจ้างขนย้ายน้ำมันปาล์มจากชุมนุมสหกรณ์ฯ ในนามของนิติบุคคลขนส่ง ที่ จ.ตรัง และยังปรากฏข้อมูลจากพยานบุคคลว่ามีผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอดีตผู้บริหารในชุมนุมสหกรณ์ฯ บางราย มีการโอนรถยนต์บรรทุกพ่วงมีชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นนิติบุคคลดังกล่าวมาเพื่อเป็นการชําระหนี้ของตนเอง จากการสอบถามผู้ประกอบการให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และทางดีเอสไอได้นำเอกสารหลักฐานจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับรูปคดีไปตรวจสอบ เพื่อประกอบสำนวนเพิ่มเติม เพื่อเร่งคลี่คลายคดีทุจริตในชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนปาล์ม จ.กระบี่
อย่างไรก็ตามพฤติการณ์นิติบุคคลและบุคคลที่เกี่ยวข้องอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน สนับสนุนผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น กระทําผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน และ ในกรณีที่สหกรณ์กระทําความผิดกรรมการหรือผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้ลงมติให้สหกรณ์ดําเนินการหรืองดเว้นการดําเนินการ หรือเป็นผู้ดําเนินการหรือรับผิดชอบ ในการดําเนินการนั้น ได้กระทําผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 และพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2542 มาตรา 51/1 มาตรา 51/2 ประกอบมาตรา 133/5 ประกอบมาตรา 86 และพฤติการณ์ยังอาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐาน ร่วมกันฟอกเงิน.