ชาวสุไหงโก-ลก ได้เฮ! กรมทางหลวงเสนอสร้าง ทางเลี่ยงเมืองกระตุ้นเศรษฐกิจ
หมวดหมู่ : นราธิวาส, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 19 ก.ค. 2565, 14:00 น. อ่าน : 1,019นราธิวาส-ชาวบ้าน 3 อำเภอ เตรียมเฮ!อนาคตเศรษฐกิจโชติช่วง หลังกรมทางหลวงเตรียมตัดถนนเลี่ยงเมืองสุไหงโก-ลก ออกแบบมาให้ชาวบ้านเลือก 3 เส้นทาง เมื่อเลือกแล้วตะออกแบบและเดินหน้าก่อสร้าง ใช้เวลา 3 ปีเสร็จ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 19 ก.ค. 65 ที่ห้องประชุมทรายทอง อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นายเอกวิทย์ จันทวงษ์ปลัดอาวุโส อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ได้เป็นประธานการประชุมหารือรูปแบบทางเลือกการก่อสร้างทางหลวง 4 ช่องจราจรทางเลี่ยงเมืองสุไหงโก-ลก ซึ่งทางกรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีการเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนา และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.แว้ง สุไหงปาดีและสุไหงโก-ลก จำนวน 70 คน ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง มารับข้อเสนอแนะและรับฟังการชี้แจงจากฝ่ายต่างๆที่รับผิดชอบ อาทิ นายสุพัฒน์ ชุ่มมุณีรัตน์ วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ นายฤทธิชัย วุ้นศิริ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม นายภัสรพี อนันตชัยพงศ์ วิศวกรงานทาง เพื่อให้ชาวบ้านที่ปลูกบ้านอาศัยอยู่และมีพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งมีที่ดินที่ถนนต้องตัดผ่านได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
การก่อสร้างทางหลวงเลี่ยงเมืองสุไหงโก-ลกนี้ กรมทางหลวงได้ทำการออกแบบทางเลือกไว้ให้ชาวบ้านตัดสินใจ จำนวน 3 เส้นทาง ซึ่งมีระยะทางยาว รวม 14 ก.ม. โดยเริ่มต้นจากบ้านมือบา ม.4 ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก สิ้นสุดที่ ต.กายูคละ อ.แว้ง โดยทางหลวงเส้นทางที่ 1 ต้องตัดผ่านพื้นที่ชุ่มน้ำเขตรักษาพันธุ์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯ หรือพรุโต๊ะแดงบางส่วน ทางหลวงเส้นที่ 2 ต้องตัดผ่านพื้นที่ชุมน้ำเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพฯหรือพรุโต๊ะแดงน้อยลง แต่ต้องผ่านชุมชนบางส่วนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ และทางหลวงเส้นทางที่ 3 ตัดผ่านลัดเลาะไปตามขอบป่าของป่าพรุโต๊ะแดง ซึ่งกระทบต่อชาวบ้านที่ปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยอยู่ ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศน์น้อยที่สุด
เมื่อชาวบ้านตัดสินใจเลือกเส้นทางใดเส้นทางหนึ่ง เจ้าหน้าที่จะทำการออกแบบ และประเมินการก่อสร้าง ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน จึงจะสามารถทราบงบประมาณการก่อสร้างว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใด โดยจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลานาน 3 ปี ซึ่งทั้ง 3 เส้นทางเลือกจะมีการสร้างสะพานต่างระดับ เพื่อให้กระทบต่อระบบนิเวศน์ของป่าพรุโต๊ะแดงน้อยที่สุด และเมื่อเส้นทางหลวงสร้างแล้วเสร็จ ถือว่าเป็นเส้นทางหลวงสายเศรษฐกิจที่เชื่อมโยง 3 อำเภอ คือ แว้ง สุไหงปาดีและสุไหงโก-ลก ชาวบ้านสามารถใช้เป็นเส้นทางขนส่งพืชและผลไม้เศรษฐกิจ ออกไปจำหน่ายสู่ท้องตลาดได้สะดวก แถมยังเป็นเส้นทางที่สามารถขนถ่ายสินค้าส่งออกระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียทั้ง 3 ด่านพรมแดน คือ ด่านพรมแดนตากใบ ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก และด่านพรมแดนบูเก๊ะตา อ.แว้ง ได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ขยายผลทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ทั้ง 3 อำเภอกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ด้านนายสุพัฒน์ ชุ่มมุณีรัคน์ วิศวกรโยธาชำนายการพิเศษ กรมทางหลวง เปิดเผยว่า การก่อสร้างทางหลวงสายเลี่ยงเมืองสุไหงโก-ลก ใช้ระยะเวลาการก่อสร้าง 3 ปี ส่วนใช้งบประมาณเท่าไรต้องขอดูรูปแบบเส้นทางที่ชาวบ้านเลือกว่าต้องการเส้นทางแบบไหน จะเป็นถนนที่ต้องถมหรือจะเป็นการสร้างสะพานจุดไหนบ้าง ซึ่งต้องมีการศึกษาด้านการระบายน้ำ จุดตัดทางแยกต่างๆซึ่งต้องไปตัดทางเชื่อมเดิม ซึ่งเป็นชุมชนที่เราต้องมีการสร้างสะพานข้ามตามความเหมาะสม.