ทช.รับมอบ 7 ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากเชฟรอน
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, สุราษฎร์ธานี, ทั่วไป, กรุงเทพฯ, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 15 ธ.ค. 2563, 21:19 น. อ่าน : 1,657 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รับมอบ 7 ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม จาก
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
หลังจัดวางเป็นปะการังเทียมบริเวณเกาะพะงันสำเร็จเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นความร่วมมือภายใต้ “โครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7
ขาแท่น ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล บริเวณเกาะพะงัน
จังหวัดสุราษฎร์ธานี” โดยหวังสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว สังคม
ระบบนิเวศทางทะเล และการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยมี
ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาฯ)
เป็นผู้ดูแลด้านการศึกษาทางวิชาการ
ทั้งนี้ โครงการนำร่องดังกล่าว นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่มีการจัดวาง
ปะการังเทียมจากขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม
ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยการผนึกกำลังระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ
เริ่มตั้งแต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่ให้ความเห็นชอบในการรื้อถอนและโอนย้ายขาแท่นมาจัดวางเป็นปะการังเทียม
และ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง
ซึ่งอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการจัดวางปะการังเทียม
ตลอดจนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ซึ่งติดตามการทำงานของโครงการอย่างต่อเนื่อง
นายโสภณ ทองดี อธิบดี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เปิดเผยว่า
“การดำเนินโครงการนำร่องนี้ได้ผ่านการศึกษาความเป็นไปได้และผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล
โดย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รวมทั้งมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่แล้วก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ
ทั้งนี้หลังจากรับมอบขาแท่นแล้ว ทช.จะกำหนดเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine
protected area) ที่ระยะสั้น 1 ปีแรก จะห้ามไม่ให้มีการทำกิจกรรมใดๆ
ในพื้นที่จัดวาง เพื่อให้สิ่งเกาะติดบนพื้นผิวของขาแท่นมีเวลาในการฟื้นตัวและให้สัตว์ทะเลได้เข้าอาศัย
หลังจากนั้น ทช.จะกำหนดแผนและมาตรการการบริหารจัดการพื้นที่
รวมทั้งแนวทางการติดตามและศึกษาผลกระทบจากการใช้ปะการังเทียมจากขาแท่นปิโตรเลียมในทุกมิติ
ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบบนิเวศทางทะเล เพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย การต่อยอดโครงการในอนาคต
ซึ่งในระยะยาวจะออกเป็นกฎกระทรวงประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองต่อไป”
ด้าน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะตัวแทนของ บริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และบริษัทผู้ร่วมทุน
ผมต้องขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้
และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนด้วยการส่งมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมที่ไม่ใช้งานแล้วให้กับ
ทช.ไปจัดวางเป็นปะการังเทียม พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการจัดวางและงบประมาณโครงการฯ
ตลอดจนจัดหาผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยในประเทศออสเตรเลียมาถ่ายทอดความรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในงานศึกษาวิจัย
โดยตลอดระยะการดำเนินงาน เชฟรอนได้ปฏิบัติงานตามมาตรฐาน
ด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยในระดับสากล ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะนำมาซึ่งประโยชน์ทางทะเลในหลายมิติ
ทั้งเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศทางทะเลจากการเพิ่มแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ด้านการประมงและการท่องเที่ยว
ตลอดจนสร้างองค์ความรู้ที่มีค่าด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งต่อไป”
ขณะที่ ดร.ศุภิชัย ตั้งใจตรง กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางจุฬาฯ จะใช้เวลาในการติดตามโครงการประมาณ 2 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยจากออสเตรเลียมาร่วมศึกษาด้วย และทางจุฬาลงกรณ์เองได้จัดตั้งทีมที่ดูแลทั้งเรื่องระบบนิเวศทางทะเล โครงสร้างและการเคลื่อนตัว รวมถึงประโยชน์กับกลุ่มผู้ใช้ต่างๆ โดยทำงานกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตลอดจนกำกับงานร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย เพื่อให้ผลงานที่ออกมามีความเป็นกลางมากขึ้น เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล”.
นายโสภณ ทองดี (ซ้าย) อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) เป็นผู้แทน
ทช. ลงนามรับมอบขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต
จำกัด โดย นายไพโรจน์ กวียานันท์ (ขวา) ประธานกรรมการบริหาร
เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล
ผู้บริหารจากทุกภาคส่วน
ผู้ผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมมาจัดวางเป็นปะการังเทียม
นายโสภณ ทองดี อทช. รับมอบแบบจำลองของพื้นที่โครงการฯ จาก นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอนประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมือ