ทำวิจัยเสนอยูเนสโก ดันความเชื่อเรื่อง“พญานาค”เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง

หมวดหมู่ : ต่างประเทศ-ทั่วไป, กรุงเทพฯ,

อ่าน : 649
สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ความเชื่อเรื่องพญานาค มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง ขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโก
ทำวิจัยเสนอยูเนสโก ดันความเชื่อเรื่อง“พญานาค”เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง

กรุงเทพฯ-สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เดินหน้าผลักดันเสนอ”ความเชื่อเรื่องพญานาค” เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง” ขึ้นทะเบียนต่อองค์การยูเนสโกร่วมกัน 5 ชาติได้แก่ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนามทำวิจัยในประเทศไทยเสร็จแล้ว เตรียมทำในลาวและประเทศอื่นๆ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 4 ก.ค.2565 เวลา 10.00 น. สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 คณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และมูลนิธิวีระภุชงค์ ได้จัดงานแถลงข่าวหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม” ที่ห้องประชุม บริษัท ไทยนครพัฒนา จำกัด อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรีโดยมี ดร.วินัย วีระภุชงค์ ประธานมูลนิธิวีระภุชงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 เป็นประธานในพิธี และผู้เข้าร่วมแถลงข่าวจากคณะผู้วิจัย คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้แก่ พระเมธีวรญาณ ป.ธ.9 ผศ.ดร. รองคณบดีฝ่ายบริหาร พระมหายุทธนา นรเชฏฺโฐ ป.ธ.9 ผศ.ดร. ผู้อำนวยการหลักสูตรพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระไตรปิฎก รศ. ดร.ณัทธีร์ ศรีดี รองคณบดีฝ่ายวิชาการ และ นางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และนายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม


งานแถลงข่าวครั้งนี้จัดขึ้นเนื่องในโอกาสสรุปงานวิจัยชุดแรกหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” ภายใต้แผนการวิจัยหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” โดยจะลงพื้นที่ศึกษาวิจัยในหัวข้อเดียวกันที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ต่อไป






ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 กล่าวว่า ความคิดริเริ่มสนับสนุนการทำงานวิจัยหัวข้อ อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขงนั้น ได้มาจากการวางแผนจัดกิจกรรมเพื่อสร้างเสริมความตระหนักในการนำแก่นธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตของคนในลุ่มน้ำโขง เนื่องจากตลอดการเดินทางในงานธรรมยาตรา 5 แผ่นดินไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ที่ผ่านมา พบว่าทุกวัดมีเรื่องราวและรูปปั้นพญานาค ไม่ว่าจะเป็นวัดพุทธเถรวาทหรือมหายาน จึงทำให้คิดถึงการรวบรวมองค์ความรู้เรื่องพญานาคที่ถูกต้องให้ครอบคลุม เพื่อค้นหาความผูกพันขององค์พญานาคในการพิทักษ์ปกป้องพระพุทธศาสนาและลบความเชื่อผิด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์พญานาคออกไป สถาบันฯ จึงสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเรื่อง “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” ขึ้น 


คณะผู้วิจัยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิระดับสูงจากการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการพระพุทธศาสนา จากคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย นำโดยพระเมธีวรญาณป.ธ.9 ผศ.ดร. รองคณบดีฝ่ายบริหาร รับเป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยทั้งชุด




“สำหรับผลการดำเนินการวิจัยชุดแรกเรื่อง “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย” มีสรุปผลการวิจัยอย่างชัดเจนว่า “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาไทยมีหลายด้าน ทั้งด้านความเชื่อ ด้านศิลปกรรม ด้านวรรณกรรม และด้านพิธีกรรม แต่ละด้านได้สะท้อนให้เห็นถึงความมีอยู่จริงตลอดจนแสดงถึงความสำคัญและอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่มีต่อพระพุทธศาสนาในประเทศไทยอย่างชัดเจนจนกลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของความเชื่อที่ปรากฏให้เห็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศิลปกรรม และด้านประเพณี


“จากแนวการศึกษาวิจัยชุดแรกที่ประเทศไทยได้สำเร็จลงแล้ว ได้วางแผนลงพื้นที่วิจัยที่ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม โดยมีเป้าหมายนำองค์ความรู้“ความเชื่อเรื่องพญานาค” ยกระดับให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และขอขึ้นทะเบียนรายการต่อองค์การยูเนสโกร่วมกัน 5 ประเทศ ได้แก่ไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม นี่คือความฝันของพวกเรา ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ของชาวพุทธลุ่มน้ำโขงที่มีมรดกโลกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมร่วมกัน”ดร.สุภชัยกล่าว


ส่วนนางสาวทิพย์วรรณ วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ กล่าวว่า มูลนิธิวีระภุชงค์ ให้การสนับสนุนแผนการวิจัยหัวข้อ “อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาในลุ่มแม่น้ำโขง” รู้สึกปลื้มปิติและยินดีอย่างยิ่งที่มีโอกาสสนับสนุนทุนวิจัยให้กับงานที่ทรงคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อการปกป้องและเผยแผ่พระพุทธศาสนา ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของมูลนิธิวีระภุชงค์ คือ มุ่งทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมให้กับคนในสังคมมีความสุขและพบกับความเจริญในชีวิต ในโอกาสนี้ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยนี้ ที่จะลงพื้นที่ศึกษาที่ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา ต่อไป เชื่อมั่นว่าเมื่องานวิจัยนี้สำเร็จครบสมบูรณ์ จะมีข้อมูลและองค์ความรู้ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม จนสามารถผลักดันความฝันที่จะนำเรื่องนี้ยกระดับขึ้นสู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงร่วมกัน 5 ชาติ สำเร็จดังความตั้งใจ


ด้านพระเมธีวรญาณ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬลงกรณราชวิทยาลัย ในฐานะผู้อำนวยการแผน กล่าวว่าอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค มีมาช้านานก่อนพุทธกาลจนมาถึงสมัยพุทธกาล ทั้งในชมพูทวีปเชื่อมโยงมาถึงลุ่มน้ำโขง 5 ประเทศ มีความเชื่อเรื่องพญานาคเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อำนวยความสะดวกให้ความสุข มีความผูกพันต่อสังคมและด้านเกษตรกรรมที่ดูแลเรื่องน้ำ จึงเป็นมรดกความเชื่อทางวัฒนธรรม และในพระพุทธศาสนา เป็นสัญลักษณ์ของการไม่เบียดเบียนกัน ทำให้เกิดสันติสุขในสังคม


ขณะที่ ดร.ชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวถึงการเสนอเรื่อง”อิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาค สู่มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม”ต่อยูเนสโกว่า การทำวิจัยต้องมีประจักษ์พยานหลักฐาน หรือสิ่งยืนยันความเชื่อเรื่องพญานาค ถูกนำไปใช้ในการปฏิบัติหรือการดำเนินชีวิตจริง หรือมีการนำไปผูกโยงเข้ากับวิถีชีวิต จนทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสมาชิกในสังคมที่นำไปสู่ความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพื้นที่ ซึ่งต้องให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย การผลักดันร่วมกับประเทศกลุ่มลุ่มนำ้โขง ก็สามารถทำได้ในอนาคตหลายลักษณะ และกรมส่งเสริมวัฒนธรรมก็พร้อมให้การสนับสนุน.