ม.ทักษิณ พัฒนาพัทลุงโมเดล “กระจูดแก้จน” สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส

หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 729
ม.ทักษิณ พัทลุงโมเดล กระจูดแก้จน
ม.ทักษิณ พัฒนาพัทลุงโมเดล “กระจูดแก้จน” สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส

               พัทลุง - มหาวิทยาลัยทักษิณ มีการปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนที่เหมาะสม ด้วยรูปแบบการพัฒนา “พัทลุงโมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการพัฒนาโมเดลดังกล่าวภายใต้ชื่อโครงการ “กระจูดแก้จน” เปิดโอกาสให้คนจนเข้าสู่กระบวนการของโครงการด้วยการสมัครใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาความรู้ คุณภาพชีวิต และสร้างรายได้เพิ่ม โดยมีศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณีเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง

    เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานจาก Lenoi Craft Phattalung สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส ณ ลานจัดแสดง Quartier Gallery ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งมีภาคีเครือข่ายความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยทักษิณ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณีพัทลุง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานจังหวัดพัทลุง และ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ (The EmQuartier) สุขุมวิท กรุงเทพฯ ร่วมจัดงานในครั้งนี้เพื่อนำเสนอและเผยแพร่พัทลุงโมเดล ผ่านการจัดแสดงและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์เลน้อยคราฟที่มาจากครัวเรือนคนจนทะเลน้อย และเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อเพิ่มรายได้และเปิดมุมมองใหม่เป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างมากขึ้น

    และได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้บริหาร คณาจารย์นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ และตัวแทนจากชุมชนทะเลน้อย เข้าร่วม สำหรับกิจกรรมภายในงานได้จัดเวทีเสวนา “จาก Lenoi Craft Phattalung สู่การสร้างพลัง สร้างรายได้ กระจายโอกาส” ร่วมกับหน่วยงานภาคีความร่วมมือและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจูดจากโครงการฯที่มีหลากหลายรูปแบบ และมีอัตลักษณ์ ลวดลายที่โดดเด่นสวยงาม ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์กระจูดจาก Lenoi Craft Phattalung ได้ตั้งแต่วันนี้ - 19 เมษายน 2565 ภายในงาน Songkran Heritage ณ ชั้น M ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ

    ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า พี่น้องชาวทะเลน้อย ได้ออกมาจากทะเลน้อยมาอยู่ในกรุงเทพ ไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพเท่านั้น แต่ยังมาอยู่ในศูนย์กลางของกรุงเทพ เป็นความน่าดีใจเป็นอย่างยิ่ง กระทรวง อว. โดย มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนทางด้านนี้ เราได้บรรจุเรื่องของการพัฒนา เป็นหัวใจของการทำงานหลักของกระทรวง ต้องขอบคุณท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้บริหารทปท.ที่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้ และที่สำคัญต้องขอบคุณอาจารย์ทุกท่านที่ลงไปในพื้นที่ และฝังตัวอยู่ในพื้นที่ ได้นำความรู้และประสบการณ์เพื่อชุมชน มหาวิทยาลัยสอนคน ทำคนเป็นคนที่มีอาชีพ สร้างความรู้ โดยการพัฒนาความรู้พัฒนาการวิจัย และสร้างนวัตกรรม นี่เป็นภารกิจที่เกิดขึ้นก่อนมีการตั้งกระทรวง ในการตั้งกระทรวงเรามีอีกภารกิจที่สำคัญมากคือ ภารกิจการพัฒนา สร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรมแล้ว จะต้องนำไปสู่การพัฒนา ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของทุกคนดีขึ้น นั้นเป็นมิติของการพัฒนา กระทรวงมีโครงการจำนวนมากในเรื่องของการพัฒนา มหาวิทยาลัยตอนนี้ออกนอกบริบทเดิม ที่มีอยู่ไปเยอะมาก และที่สำคัญเรื่องการพัฒนา เป็นการพัฒนาแบบมุ่งเป้าให้เห็นผลจริงๆ โดยการที่ผลนี้ดูที่ระดับของคน ดูที่ระดับของชุมชน และดูที่การขับเคลื่อนต่างๆ เช่น โครงการ lenoi Craft Phathalung สอดคล้องกับภาคทั้งหมด อยากเห็นมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และอื่นๆ ในส่วนนี้ทำงานเพิ่มเติมจากการสร้างคน สร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม แล้วต้องให้เกิดผลที่จับต้องได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ภาควิชาการกับภาคประชาชน มาช่วยกัน เมื่อประชาชนดีขึ้น มหาวิทยาลัยก็ดีขึ้น ประเทศก็จะดีขึ้น ในนามของกระทรวง อว.ขอขอบคุณ ทุกหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้บริหารในพื้นที่ และชุมชนต่างๆ เหล่านี้ ที่ช่วยกัน และขอขอบคุณทางควอเทียร์ ที่สนับสนุนพื้นที่ในวันนี้

    รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการบริการวิชาการ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นมหาวิทยาลัยที่เน้นทางด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แก้จน เพื่อให้เกิดการสร้างรายได้แก่ชาวบ้านทะเลน้อย โดยการดึงวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง (กระจูดวรรณี) ผนวกกับองค์ความรู้ทางด้านศิลปกรรมการออกแบบของมหาวิทยาลัยทักษิณ โดยใช้วิธีการ Coaching เน้นการเพิ่มทุนมนุษย์จากกระจูด จัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมให้ความรู้เชิงทฤษฎีและลงมือปฏิบัติจริง ได้แก่ การพัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบเชิงสร้างสรรค์ (Production) การยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์แบบยั่งยืน (Design/ Branding) และการพัฒนาการตลาดในยุคดิจิทัล (Marketing/ Selling) เพิ่มทุนสังคม ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มของคนจน เป็นวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ (Lenoi Craft Community Enterprise) เพิ่มทุนเศรษฐกิจ สมาชิกของวิสาหกิจชุมชนเลน้อยคราฟ มีช่องทางการหารายได้ระหว่างทาง คือ สามารถนำกระเป๋ากระจูดที่สานที่บ้านมาฝึกทดลองขายผ่านออนไลน์หลังจากเสร็จสิ้นการฝึกอบรมปัจจุบันโครงการได้ขยับมาถึงช่วงของการนำความรู้ที่ผ่านการอบรมมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นและสวยงาม ทั้งการใช้สีธรรมชาติสำหรับกระบวนการย้อม การคิดค้นลวดลายใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น ลายเกลียวคลื่น ลายดอกบัว ลายตัวขอพระราชทาน เป็นต้น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาโมเดล สร้างรายได้ และขยายโอกาสให้แก่ครัวเรือนคนจนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

    นายมนัทพงค์ เซ่งฮวด กลุ่มวิสาหกิจกระจูดวรรณี เปิดเผยว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยการสานกระจูดสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนชาวทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง โชคดีชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง( lenoi craft) ได้รับความรู้จาก อาจารย์พลัฏฐ์ ยิ้มประเสริฐ สังกัดสาขาศิลปะการออกแบบ ม.ทักษิณ และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ได้เข้ามาร่วมกันคิดออกแบบ และพัฒนาส่งเสริมการผลิตกระจูดสร้างรายได้ให้แก่คนจนทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สนับสนุนทุนวิจัย ดำเนินงานโดยมหาวิทยาลัยทักษิณ.