มรภ.ยะลา ผลักดัน”ชุมชนปิยะมิตร 1”เป็นต้นแบบบริหารศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์

หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป, การศึกษา,

อ่าน : 706
มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คณะวิทยาการจัดการ ชุมชนต้นแบบ
มรภ.ยะลา ผลักดัน”ชุมชนปิยะมิตร 1”เป็นต้นแบบบริหารศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ยะลา-คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผลักดันชุมชนปิยะมิตร 1 อ.เบตง จ.ยะลา  เป็นต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจชุมชน

      

      เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2565 เวลา 10.30 น. ที่ชุมชนอุโมงค์ปิยะมิตร1 ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา รศ. ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นประธานเปิดโครงการกิจกรรมถ่ายทอดผลการพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้การวิจัยเพื่อการไปใช้ประโยชน์ ในประเด็นการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากชุมชนอุโมงปิยมิตร1 สู่ความยั่งยืน โดยมีผู้จัดการอุโมงค์ปิยะมิตร1 ผู้นำชุมชน และประชาชนในชุมชนปิยะมิตร1 คณะทีมงานวิจัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกิจกรรมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ซึ่งโครงการนี้ได้รับทุนสนับสนุนการทำกิจกรรมส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย การจัดการความรู้การวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงชุมชน สังคม ภายใต้โครงการจัดการความรู้การวิจัยเพื่อประโยชน์ จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563-2564 

       

      รศ.ดร.นันทรัตน์ นามบุรี คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  มียุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาท้องถิ่น การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ก็เป็นหนึ่งในงานวิจัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เนื่องจากมองเห็นถึงต้นทุนของชุมชนปิยะมิตร1 ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาศักยภาพไปสู่ชุมชนเศรษฐกิจท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน และสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้การบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบให้กับผู้สนใจ รวมถึงเป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียน นักศึกษาได้ด้วย 


      พร้อมทั้งมุ่งเน้นถ่ายทอดต้นแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ควบคู่กับการบริหารจัดการด้านการเงินและบัญชีอย่างเป็นระบบ รองรับธุรกิจบริการและกิจกรรมของชุมชน รวมทั้งแนะนำแนวทางการพัฒนายกระดับพืชท้องถิ่น อย่างเห็ดหลินจือดำ เป็นพืชที่พบในป่าไผ่ธรรมชาติ ส่วนใหญ่จะพบเห็ดหลินจือดำขึ้นบนต้นไผ่สีทอง ซึ่งพบมากในชุมชนปิยะมิตร  มีสารอาหารและสัพคุณทางยามากมายและเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของชุมชนปิยะมิตร ที่ทางคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จะส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ต่อไป.

       

      สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการแบ่งกลุ่มกิจกรรมการถ่ายทอดผลการพัฒนาโดยใช้องค์ความรู้การวิจัยเพื่อการไปใช้ประโยชน์ ประเด็น "การพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานรากชุมชนอุโมงค์ปิยะมิตร 1 สู่ความยั่งยืน" เป็น 3 กลุ่ม

 ได้แก่ กลุ่มที่ 1 Application บริหารจัดการโฮมสเตย์ ระบบบัญชีการดำเนินงานกลุ่มชุมชน กลุ่มที่2 นวัตกรรมอาหารอัตลักษณ์พื้นถิ่น กลุ่มที่ 3 นวัตกรรมสื่อประชาสัมพันธ์ website, page Facebook  เพื่อเป็นแนวทางต่อประชาชนที่ร่วมรับการถ่ายทอดความรู้ได้นำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์ต่อชุมชนในระยะยาวอย่างยั่งยืนต่อไป.