รมว.ทรัพยากรฯ ลงพื้นที่นราธิวาส แก้น้ำท่วมซ้ำซากและที่ทำกินทับป่าสงวนฯ
หมวดหมู่ : นราธิวาส, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 23 ม.ค. 2566, 14:00 น. อ่าน : 459นราธิวาส-รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงพื้นที่ช่วยชาวบ้านแก้น้ำท่วมซ้ำซาก ที่ดินทำกินทับป่าสงวนรับปากอีก 5 เดือนสุขกันทั่วหน้า
เมื่อวันที่ 23 ม.ค.66 เวลา 11.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมายังวัดประชุมชลธารา อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส โดยมี พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หน.พรรคประชาชาติ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายไพโรจน์ จริตงาม รองผวจ.นราธิวาส นายปรีชา แสงเทียน ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 13 สาขานราธิวาส คอยให้การต้อนรับ ก่อนที่นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเข้านมัสการพระเทพศีลวิสุทธิ์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค18 เจ้าอาวาสวัดประชุมชลธารา
ต่อมานายวราวุธได้พูดคุยถึงปัญหาพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก และที่ดินทำกินของประชาชนทับพื้นที่ป่าสงวนฯ ที่ชาวบ้านได้ถือครองมาหลายชั่วอายุคน และได้มีการร้องทุกข์ผ่านพรรคประชาชาติ ในการหาแนวทางช่วยเหลือร่วมกับทาง ศอ.บต. โดยมีพระเทพศีลวิสุทธิ์เป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหา เบื้องต้นจากความร่วมมือของทุกฝ่ายสามารถแก้ไขปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน โดยทางกรมชลประทานได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ ทำการขุดลอกคลองสุไหงปาดีสายเก่า ที่ต่อเชื่อมกับคลองสายใหม่ ไปแล้ว 2.6 ก.ม.ใช้งบประมาณ 1.6 ล้านบาท
ส่วนที่เหลืออีก 6 ก.ม. หากสามารถทำการขุดลอกคลองได้เพิ่มเติม จะสามารถแก้ไขปัญหาพื้นที่นาที่ถูกน้ำท่วมขัง จนกลายสภาพเป็นนาร้างได้ ซึ่งต้องใช้งบประมาณอีก 9.6 ล้านบาท เมื่อแล้วเสร็จจะสามารถช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังพื้นที่นา ที่ชาวบ้านสามารถกลับมายึดอาชีพภาคเกษตรกรรมได้อีกครั้ง
สำหรับกรณีปัญหาที่ดินทำกินทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งมีชาวบ้านถือครองที่ดินเอกสาร สค.3, สค.1 และ กสน.5 จำนวน 8 หมู่บ้าน ต.สุไหงปาดีอ.สุไหงปาดี รวม 1,528 ราย ในเนื้อที่ 11,765 ไร่ ที่ได้มีการประกาศเป็นพื้นที่ทับซ้อนของชาวบ้าน 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2518 และ ปี พ.ศ. 2533 ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้มีการจัดเวทีประชาคมกับชาวบ้าน พบพื้นที่ 5 จุด เนื้อที่ประมาณโดยรวมเพียง 2 งานเท่านั้น ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถช่วยเหลือชาวบ้านได้ ด้วยการรวบรวมหลักฐานต่างๆ เข้า ครม. เพื่อปลดพื้นที่ดังกล่าวออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งชาวบ้านสามารถที่จะได้เอกสารสิทธิถือครองที่ดินได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งเรื่องดังกล่าว นายวราวุธ ได้สั่งกำชับให้ปลัดกระทรวงฯ สั่งการเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการให้กับชาวบ้านอย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ นายวราวุธ และคณะ จะเดินทางไปพบปะชาวบ้านที่เดือดร้อน ได้มีนายนมะหามัดฮามิ สมาชิกสภา จ.นราธิวาส เขต 2 อ.สุไหงปาดี เป็นตัวแทนชาวบ้าน ม.6 ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี ยื่นหนังร้องทุกข์ให้กับนายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านอีก 1 กรณี โดยทีดินของชาวบ้านที่มี นส.3 ก แต่ปัจจุบันนี้ที่ดินดังกล่าวกลับไปอยู่ในเขตป่า ทำให้มาสสามารถทำธุรกรรมใดๆได้แถมไม่สามารถแบ่งแยกให้กับบุคคลให้ครัวเรือน หลังจากที่ได้รับมรดกตกทอดจากพ่อแม่ หลังได้รับหนังสือร้องทุกข์ นายวราวุธ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเช่นกัน
ต่อมานายวราวุธ ได้เดินทางไปยังบ้านน้ำท่า ม.11 ต.สุไหงปาดี เพื่อพบปะกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และที่ดินทับซ้อนกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรติ เขตป่าสงวนแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 600 คน โดยนายวราวุธ รับปากกับชาวบ้านปัญหาทุกอย่างที่ชาวบ้านเดือดร้อน ตนมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ลุล่วง ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนระเบียบของทางราชการที่จะทำให้พี่น้องประชาชน สามารถถือครองที่ดินทำกินได้ดั่งเดิมที่สืบทอดมรดกจกบรรพบุรุษ
ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในที่ดินทำกินนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วเสร็จบางส่วน ส่วนที่เหลือคือการขุดลอกคลอง ลึก 3 เมตร กว้าง 8 เมตร อีกประมาณ 6 ก.ม.นั้น ได้สั่งการให้ผู้รับผิดชอบเร่งดำเนินการ ใช้งบอีกประมาณ 9.6 ล้านบาท ประมาณเดือนมิถุนายน 66 นี้ ก็แล้วเสร็จ ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในที่นาจนกลายเป็นนาร้างก็จะหมดไป ชาวบ้านสามารถกลับมาทำภาคเกษตรกรรมได้ แถมยังสามารถช่วยระบายน้ำท่วมขังพื้นที่ชาวบ้านกว่า10,000 ไร่เศษในอีกทางหนึ่งด้วย
ก่อนเดินทางกลับ นายวราวุธ ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินการขุดลอกคลองสุไหงปาดี ซึ่งแล้วเสร็จไปแล้ว2.6 ก.ม.โดยมีเจ้าหน้าที่กรมชลประทานนราธิวาส ได้มีการบรรยายสรุปถึงโครงการดังกล่าว ที่สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้แบบเป็นรูปธรรม.