สงขลา จัดพิธีแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน ประจำปี 2563
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 3 ต.ค. 2563, 09:00 น. อ่าน : 1,629เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2563 เวลา 08.00 น. เทศบาลนครสงขลา จัดพิธีแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน ในช่วงเทศกาลออกพรรษา ซึ่งเป็นกิจกรรมหนึ่งในงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ประจำปี 2563 โดยขบวนแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน เริ่มจากบริเวณหน้าสถานีวิทยุเสียงจากทหารเรือ (ส.ทร.6 สงขลา) แห่ผ้าห่มฯ ไปตามถนนสายต่างๆ ในเขตเทศบาลนครสงขลา เพื่อให้ประชาชนได้สักการบูชาก่อนจะนำไปห่มองค์เจดีย์หลวงฯ และขบวนจะไปสิ้นสุดที่บริเวณเชิงบันไดเขาตังกวน จากนั้น นางสุรียพรรณ์ ณ สงขลา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ประธานในพิธี ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา ประธานการจัดงานฯ ได้อัญเชิญผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงฯ ขึ้นไปบนยอดเขาตังกวน โดยมีนายพนมเทียน เส้งวั่น ท้องถิ่นจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ พนักงาน และประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวนด้วยความศรัทธากันอย่างเนืองแน่น
สำหรับพิธีแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน เป็นประเพณีที่ยึดมั่นของพี่น้องชาวสงขลาที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นระยะเวลานาน
โดยเทศบาลนครสงขลา ได้กำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเทศกาลออกพรรษา
ยึดเอาวันมหาปวารณา หรือ วันออกพรรษา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันจัดงาน
ก่อนที่จะเริ่มงานประเพณีลากพระและตักบาตรเทโว ในวันรุ่งขึ้น
ด้วยมีความเชื่อว่าการทำบุญและการกราบไหว้บูชาที่ให้ได้กุศลจริง
จะต้องปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าและใกล้ชิดกับพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด
เมื่อพระองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว ก็ยังมีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้าอยู่
เมื่อบูชากราบไหว้สิ่งเหล่านี้ เท่ากับเป็นการกราบไหว้ต่อพระพักตร์ของพระพุทธองค์
สำหรับจังหวัดสงขลา
สิ่งที่พี่น้องประชาชนยึดถือและศรัทธาว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธองค์ ได้แก่
องค์เจดีย์หลวงเขาตังกวน
ซึ่งเป็นพระธาตุเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยการจัดพิธีแห่ผ้าห่มองค์เจดีย์หลวงเขาตังกวนครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขของประชาชนชาวสงขลา รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาเจดีย์หลวงบนยอดเขาตังกวน ให้เป็นแหล่งรวมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้เป็นที่สักการบูชาแก่ชาวนครสงขลาและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา โดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักธรรมในส่วนที่พึงปฏิบัติต่อพระธาตุเจดีย์ ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามให้ดำรงอยู่สืบไป.