สลดใจ!พบพะยูน ตายตัวที่ 8 ในรอบเดือน ต.ค. ล่าสุดพบที่ภูเก็ต
หมวดหมู่ : ภูเก็ต,
โฟสเมื่อ : 30 ต.ค. 2567, 23:29 น. อ่าน : 68ภูเก็ต-พะยูนวิกฤตหนัก หวั่นใกล้สูญพันธ์ุแล้ว หลังพบตายเป็นตัวที่ 8 ในรอบเดือน ต.ค. พบสภาพป่วยและไม่มีอาหารในท้อง คาเขาเอาการ ล่าสุดพบที่ภูเก็ต ตายมาแล้ว 24 วัน
เมื่อวันที่ 26 ต.ค.67 เวลา 20.45 น. เจ้าหน้าที่ประมงและกลุ่มสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธ์ุ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ศวอบ.) ต.วิชิต อ.เมือง จ.ภูเก็ตได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า พบซากพะยูนตายถูกคลื่นซัดมาติดซอกหินบริเวณใกล้หาดกะรน อ.เมืองภูเก็ต หลังจากรับแจ้งจึงเดินทางไปตรวจสอบ เพื่อนำกลับมายังศูนย์ฯ ผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตาย เบื้องต้นเป็นพะยูนเพศผู้ ความยาว 2 เมตร น้ำหนักราว 110 กก.ตายมาแล้วไม่ต่ำกว่า 24 วัน การพบพะยูนตายในครั้งนี้นับว่าเป็นพะยูนตัวที่ 3 ในรอบเดือน ต.ค.67 ซึ่งไม่เคยพบปรากฎการณ์การตายของพะยูนเช่นนี้มาก่อน ถือว่าเข้าขั้นวิกฤตหนักและน่าเป็นห่วงการสูญพันธ์ุเป็นอย่างมาก
ขณะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุการเกยตื้นของพะยูนในเดือน ต.ค.67 (1-24 ต.ค.67) จำนวนทั้งสิ้น 8 ตัว แบ่งเป็นเกยตื้นมีชีวิตจำนวน 1 ตัวที่จังหวัดตรังซึ่งเสียชีวิตในวันต่อมา และตายซากเกยตื้นจำนวน 7 ตัว ประกอบด้วย ซากสด 1 ตัว และซากเน่า 6 ตัว จังหวัดที่พบการเกยตื้น ได้แก่ จ.ภูเก็ต 2 ตัว กระบี่ 1 ตัว ตรัง 2 ตัว และสตูล 3 ตัว จากการชันสูตรพบว่าเป็นพะยูนเพศผู้ 4 ตัวและเพศเมีย 4 ตัว ส่วนใหญ่เป็นพะยูนที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น (5 ตัว) รองลงมาคือ ตัวโตเต็มวัย (3 ตัว) เนื่องจากซากที่เกยตื้นอยู่ในสภาพซากที่เน่ามาก ทำให้ไม่สามารถระบุสาเหตุการตายได้ครบทุกตัว มีเพียงสาเหตุการตายที่สามารถระบุได้ส่วนมากเกิดจากอาการป่วยจำนวน 3 ตัว และสงสัยติดเครื่องมือประมง 1 ตัว เนื่องจากมีรอยเชือกรัดบริเวณลำตัว ตัวพะยูนที่เกยตื้นจากอาการป่วย พบว่าร่างกายผอม ไม่พบอาหารในทางเดินอาหารหรือพบเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจจะมีผลมาจากสภาวะการเสื่อมโทรมของหญ้าทะเลในแหล่งอาศัย
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรม ทช.ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการส่งนักวิชาการ นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เฝ้าระวังและสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันเพิ่มเติม เพื่อติดตามสถานการณ์ในภาพรวมของจำนวนประชากรและการแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด รวมทั้งรวบรวมเป็นฐานข้อมูลและกำหนดแนวทาง มาตรการ ในการอนุรักษ์และดูแลพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก นอกจากนี้ ทช.ขอความร่วมมือเรือนำเที่ยวและเรือประมงในพื้นที่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการขับเรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลดังกล่าวด้วยทั้งนี้ สามารถแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านทะเลชายฝั่ง รวมถึงสัตว์ทะเลหายากได้ตลอดที่สายด่วนพิทักษ์ป่าและรักษาทะเล โทร.1362.