โฆษก กต.แจง อียู ยังไม่เปิดรับคนฉีดวัคซีนจากไทย

หมวดหมู่ : กรุงเทพฯ,

อ่าน : 1,364
ฉีดวัคซีน
โฆษก กต.แจง อียู ยังไม่เปิดรับคนฉีดวัคซีนจากไทย

กรุงเทพฯ-โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงอียูยังไม่ได้ประกาศนโยบายให้การฉีดวัคซีน เป็นเงื่อนไขเดินทางเข้าประเทศสมาชิกอียู รวมทั้งไทยด้วย

        นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้คำแนะนำในการเดินทางไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) จากประเทศไทยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยยืนยันว่า ในขณะนี้ อียูยังไม่ได้ประกาศนโยบายให้การฉีดวัคซีนโควิด-19 ประเภทใด เป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้าประเทศสมาชิกอียูแต่อย่างใด 

        ตามข้อมูลที่ปรากฏในเว็บไซต์ https://reopen.europa.eu สถานะวันที่ 30 เมษายน 2564 การเดินทางจากประเทศไทยไปยัง 14 ประเทศสมาชิกอียู ได้แก่ โปรตุเกส สเปน อิตาลี เยอรมนี โครเอเชีย เช็ก โปแลนด์ เอสโตเนีย สวีเดน ฟินแลนด์ บัลแกเรีย กรีซ เบลเยียม และเนเธอร์แลนด์ ยังสามารถดำเนินการได้โดยไม่มีเงื่อนไข และอีก 13 ประเทศสมาชิกอียู ได้แก่ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ลัตเวีย สโลวีเนีย สโลวาเกีย ฮังการี ลิทัวเนีย โรมาเนีย ออสเตรีย ลักเซมเบิร์ก และไซปรัส เป็นไปแบบมีเงื่อนไขหรือข้อจำกั

        ประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศมีอำนาจในการประกาศกฎระเบียบเกี่ยวกับการเข้าเมืองและมาตรการด้านสาธารณสุขของตนเอง ประกอบกับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขยังเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ผู้เดินทางจึงจำเป็นต้องตรวจสอบมาตรการสาธารณสุขของประเทศปลายทางก่อนออกเดินทางเสมอ และควรปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขของประเทศที่ไปเยือนอย่างเคร่งครัด อาทิ การกักตัวโดยสมัครใจ ณ ที่พัก การตรวจหาเชื้อตามระยะเวลาที่กาหนด การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากอนามัย ฯลฯ 

        สำหรับที่มีกระแสข่าวและข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 จากประเทศนอกอียู ที่อาจไม่ได้สิทธิพิเศษตามเงื่อนไขในการเดินทางเข้าอียูนั้น นายธานี ยืนยันว่า ในขณะนี้ อียูยังไม่ได้กำหนดให้การฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือการฉีดวัคซีนประเภทใด เป็นเงื่อนไขในการเดินทางเข้าเขตอียู สำหรับผู้ที่เดินทางจากประเทศไทย ผู้เดินทางจึงควรติดตามข้อกำหนดของแต่ละประเทศสมาชิกอย่างใกล้ชิด โดยสามารถติดตามกฎระเบียบของแต่ละประเทศสมาชิกอียูล่าสุด ได้ทางเว็บไซต์ที่ระบุไว้แล้วข้างต้น

        ขณะนี้ อียูกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาวิธีการรับรองเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนฯ (Vaccination Certificate – VC) ของประเทศนอกอียู ซึ่งเมื่อการพิจารณาแล้วเสร็จ ก็จะขึ้นอยู่กับประเทศสมาชิกอียูแต่ละประเทศนำไปกำหนดมาตรการและเงื่อนไขในการเดินทางเข้าอีกครั้งหนึ่ง จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลว่าอียูจะจำกัดยี่ห้อวัคซีนใน VC จากประเทศนอกอียูหรือไม่.