กรมราชทัณฑ์ กรมประมง และซีพีเอฟ คิกออฟผลิตน้ำปลาตรา "หับเผย แม่กลอง"
หมวดหมู่ : ทั่วไป, ภาคกลาง,
โฟสเมื่อ : 1 ต.ค. 2567, 17:00 น. อ่าน : 285สมุทรสงคราม - กรมราชทัณฑ์ โดยเรือนจำกลางสมุทรสงคราม ร่วมมือกับประมงสมุทรสงคราม และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมมือคิกออฟโครงการบูรณาการความช่วยเหลือสังคมแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ฝึกเป็นทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำปลา” ภายใต้แบรนด์ “หับเผย แม่กลอง” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากปลาหมอคางดำในวงกว้างขึ้น และช่วยลดจำนวนของปลาหมอคางดำได้อย่างครบวงจร
นางจิตรา ประเสริฐโสภา ผู้บัญชาการเรือนจำกลางสมุทรสงคราม กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรือนจำกลางสมุทรสงครามได้ร่วมสนับสนุนกรมประมงแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ และให้การสนับสนุนหน่วยงานของรัฐในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ในการจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ ตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ โดย พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ได้มีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ ดำเนินการสนับสนุนแรงงานผู้ต้องขังเข้าช่วยเหลือสังคมจับปลาหมอคางดำ (ในรูปแบบ CSR) เรือนจำกลางสมุทรสงคราม จึงได้ดำเนินการตามนโยบายกรมราชทัณฑ์ มิติที่ 7 ยกระดับการสร้างการยอมและสร้างความเชื่อมั่นของสังคมต่อผู้ต้องขังและผู้พ้นโทษ โดยได้ร่วมกันดำเนินการจัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” พร้อมทั้งนำปลาหมอคางดำ มาปรุงเป็นอาหารให้ผู้ต้องขัง ให้เป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ของเรือนจำ รวมทั้งนำมาปลามาสับเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดและปลากะพงซึ่งกิจกรรมสร้างเสริมอาชีพผู้ต้องขังของเรือนจำ ล่าสุด เรือนจำกลางได้บูรณาการกับประมงสมุทรสงคราม และซีพีเอฟ ต่อยอดนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาแปรรูปเป็น “น้ำปลา” โดยกรมประมงจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำ และซีพีเอฟช่วยจัดหาอุปกรณ์และเชิญวิทยากร “จิตรกร บัวดี” เกษตรกรต้นแบบจากเพชรบุรีเจ้าของไอเดียแปรรูปปลาหมอคางดำเป็นน้ำปลาและวางจำหน่ายภายใต้ตรา “ชาววัง” มาช่วยสอนวิธีแปรรูปปลาหมอคางดำมาทำน้ำปลาเพื่อเสริมสร้างเป็นทักษะอาชีพให้ผู้ต้องขังต่อไป
“โครงการบูรณาการความช่วยเหลือสังคมแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ สอดคล้องกับแนวทางของกรมราชทัณฑ์ที่มีโครงการฝึกอาชีพช่วยให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงในการทำปลาที่อร่อยและปลอดภัย และนำทักษะอาชีพติดตัวไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต ซึ่งเป็นการส่งเสริมการบริโภคปลาหมอคางดำอีกทางหนึ่ง โดยเรือนจำกลางสมุทรสงครามจะนำน้ำปลาจากปลาหมอคางดำมาจำหน่ายเป็นสินค้าจากกรมราชทัณฑ์ภายใต้แบรนด์ “หับเผย แม่กลอง” ซึ่งช่วยให้คนไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาคางดำในวงกว้างมากขึ้น” นางจิตรา กล่าว
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ประมงจังหวัดได้รับการสนับสนุนจากเรือนจำกลางสมุทรสงครามให้ผู้ต้องขังมาช่วยลงแรงจับปลาในกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” อย่างต่อเนื่อง สำหรับความร่วมมือในวันนี้เรือนจำกลางสมุทรสงครามนำปลาหมอคางดำไปผลิตเป็น “น้ำปลา” เป็นแนวทางการบริหารจัดการปลาหมอคางดำที่จับได้อย่างเป็นระบบและได้ประสิทธิภาพสูง ด้านประมงจังหวัดสมุทรสงครามยังมีแผนการจับปลาออกจากแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปล่อยปลานักล่าให้ช่วยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กที่อยู่ในแหล่งน้ำ นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนปลานักล่าให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้นำไปช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย
สำหรับกิจกรรมล่าสุด ประมงสมุทรสงครามได้จัดกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” ระดมความร่วมมือกับ เรือนจำกลางสมุทรสงคราม ชุมชน และซีพีเอฟ ช่วยจับปลาหมอคางดำออกจากลำคลอง 3 จุด ได้แก่ คลองช่อง (คลองยี่สารเก่า) คลองเลียบถนนเอกชัย และคลองบางบ่อ สามารถจับปลาหมอคางดำได้ 509 กิโลกรัม โดยจัดสรรปลาหมอคางดำที่จับได้ 450 กิโลกรัมไปใช้แปรรูปเป็นน้ำปลา และอีก 59 กิโลกรัมนำไปเลี้ยงเป็ดของเรือนจำกลางสมุทรสงคราม
“ประมงสมุทรสงครามได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนร่วมจัดกิจกรรมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำอย่างจริงจัง ตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาจับปลาประมาณ 29 ครั้ง ส่งผลให้ปัจจุบัน ปลาหมอคางดำในพื้นที่มีแนวโน้มลดน้อยลงอย่างเป็นรูปธรรม เห็นได้จากปริมาณการจับปลาในแต่ละครั้งจับได้ลดลง รวมทั้งปลาที่จับได้ยังมีขนาดเล็กลงอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าปลาขนาดใหญ่หายไปช่วยตัดวงจรปลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายบัณฑิต กล่าว
ความร่วมมือระหว่างกรมประมงและกรมราชทัณฑ์ เป็นหนึ่งในโครงการเชิงรุกของซีพีเอฟจัดการปัญหาปลาหมอคางดำ โดยส่งเสริมการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อส่งเสริมให้มีการบริโภค ควบคู่กับการบริหารจัดการปลาที่จับมาได้โดยสร้างมูลค่าเพิ่ม ทุกวันนี้ ซีพีเอฟได้สนับสนุนกิจกรรมการจับปลาของกรมประมงใน 17 จังหวัดช่วยกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำได้ 90,000 กิโลกรัม สนับสนุนการรับซื้อเพื่อผลิตปลาป่นแล้วมากกว่า 1,700,000 กิโลกรัม และสนับสนุนปลาผู้ล่าเพื่อปล่อยในแหล่งน้ำแล้ว 90,000 ตัว เพื่อช่วยลดปริมาณปลาหมอคางดำอย่างมีนัยสำคัญ.