“ซีพีเอฟ” สร้าง “เครือข่ายชุมชน” ดูแลผืนป่ายั่งยืน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 26 มิ.ย. 2563, 16:21 น. อ่าน : 1,852ลพบุรี- โครงการ “ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เข้าสู่ปีที่ 5 ของระยะที่ 1 ช่วยฟื้นฟูและพลิกผืนป่าแห้งแล้งเป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมเดินหน้าสร้างเครือข่ายชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี เพื่อปกป้องผืนป่าและคืนสมดุลธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู และเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศ ในโครงการ “ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” เข้าสู่ปีที่ 5 ของโครงการระยะที่ 1 (ปี 2559-2563) ที่กรมป่าไม้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และชุมชนรอบพื้นที่ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี โดบวันที่ 26 มิ.ย. 2563 เป็นกิจกรรมอีกครั้งที่ชุมชนในพื้นที่รอบเขาพระยาเดินธง ร่วมกันติดตามดูแลในกิจกรรมซ่อมฝายชะลอน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ฤดูฝน
ว่าที่ร้อยตรี ทรงพล แป้นแก้ว นายอำเภอพัฒนานิคม เป็นประธานเปิดงาน และนำชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ กล่าวว่า ผืนป่าเขาพระยาเดินธง เป็นผืนป่าสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นป่าต้นน้ำของภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน ทำให้มั่นใจได้ว่าเป็นโครงการที่มีความยั่งยืน ขอขอบคุณภาคเอกชนที่ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และยิ่งน่ายินดีที่ชุมชนตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการช่วยกันปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่
นายชาตรี รักษาแผน ผู้อำนวยการส่วนภาคีเครือข่ายฟื้นฟูพื้นที่สีเขียว สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ กล่าวว่า โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี สามารถเป็นต้นแบบการพัฒนางานด้านป่าไม้และการฟื้นฟูป่าของประเทศไทย ด้วยรูปแบบการปลูกป่า 4 รูปแบบที่ถูกนำมาใช้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และปีนี้เข้าสู่ปีที่ 5 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมของผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้นจากเดิม ทั้งพันธุ์พืชและสัตว์ป่ากลับคืนสู่พื้นที่ นอกจากนี้ ชุมชนที่อยู่รอบผืนป่าของโครงการฯ ได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการ และมีส่วนร่วมในการพัฒนาผืนป่าแห่งนี้
นายดวงมนู ลีลาวณิชย์ รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า กิจกรรมในวันนี้ เป็นการรวมพลังของชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง เพื่อซ่อมแซมฝายชะลอน้ำในพื้นที่ของโครงการฯ แสดงให้เห็นความสามัคคีและการตระหนักรู้ของคนในพื้นที่ ที่มีส่วนร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยังประโยชน์กับชุมชนอย่างยั่งยืน
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ชุมชนในพื้นที่ตระหนักถึงความรับผิดชอบในการมีส่วนร่วมดูแล อนุรักษ์ และฟื้นฟูผืนป่าในพื้นที่บ้านเกิดของตัวเอง เกิดจิตสำนึกหวงแหนป่า เพื่อส่งมอบทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ให้รุ่นลูกหลานต่อไป ” นายดวงมนู กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีของโครงการระยะที่ 1 ซึ่งมีการติดตามดูแลและประเมินผลความสำเร็จตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง สภาพของผืนป่าแห่งนี้ มีความหลากหลายของพันธุ์พืชและสัตว์นานาชนิด เป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไปและสถานศึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูป่า ต้นไม้หลากหลายชนิดจากต้นกล้าเล็กๆ เติบโตขึ้น สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยบรรเทาปัญหาสภาวะโลกร้อน โดยในปี 2562 ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ จากการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ 39,690 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
นอกจากนี้ ซีพีเอฟส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ดำเนินโครงการยุทธศาสตร์สร้างสุข ปลูกผักปลอดสาร (ปี 2562 -2566 ) มีเป้าหมายสร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน โดยส่งเสริมให้คนในชุมชนปลูกผักปลอดสารไว้บริโภคเองและเก็บเมล็ดพันธุ์สำหรับการเพาะปลูกและแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านชุมชนใกล้เคียง และอนุบาลปลาลงแหล่งน้ำสาธารณะ ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าวสร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษาป่าและอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน.