ผวจ.นครฯแนะทำเรื่องใหม่ขออัญเชิญ”พระลากไม้” ไปประดิษฐานที่วัด

หมวดหมู่ : นครศรีธรรมราช, ทั่วไป,

อ่าน : 1,943
พระลากไม้อายุกว่า 100 ปี วัดมัชฌิมภูมิ
ผวจ.นครฯแนะทำเรื่องใหม่ขออัญเชิญ”พระลากไม้” ไปประดิษฐานที่วัด

นครศรีธรรมราช-พระและชาวบ้านยังเดินหน้าทวงคืนพระลากอายุ100ปี มั่นใจพยานหลักฐานเชื่อมั่นเป็นของวัดมัชฌิมภูมิแน่นอน ด้าน ผวจ.นครศรีธรรมราช เผยยังไม่กล้าคืนอ้างหลักฐานยังไม่ครบแต่แนะทางออกให้ชาวบ้านทำเรื่องมาใหม่ ขออัญเชิญไปประดิษฐานให้คนกราบสักการะน่าจะเป็นอีกทางออกที่จะพูดคุยกันได้


กรณีพระและชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 1 ต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ได้ออกมาเคลื่อนไหวทวงคืนพระลากซึ่งเป็นพระพุทธรูปโบราณที่ทำด้วยไม้ทั้งองค์ อายุกว่า 100ปี กลับคืนสู่วัดมัชฌิมภูมิ หรือวัดเกาะหัวบ้าน หลังจากพระลากได้สูญหายไปจากวัดเมื่อปี2554และพบถูกนำไปทิ้งในคลองในลำคลองห้วย ชุมชนต้นหว้า หมู่ 6 ต.โพธิ์เสด็จอ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชเมื่อปี2556 ก่อนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช ซึ่งต่อมาทางพระและชาวบ้านได้พยายามนำพยานหลักฐานที่มีอยู่ไปแสดงเพื่อทวงคืนพระลากเรื่อยมาหลายปีแต่ทางสำนักศิลปากรที่ 12ยังไม่สามารถส่งมอบพระลากกลับคืนวัดได้ โดยอ้างคำสั่งจากนายไกรศร   วิศิฎ์วงศ์ผวจ.นครศรีธรรมราช ให้หาช่องระเบียบกม.ที่ถูกต้องมารองรับในการส่งมอบคืนพระลากให้กับวัดก่อน ถึงจะส่งมอบคืนให้กับทางวัดได้ ทำให้พระและชาวบ้านต่างคอยเก้อมาเป็นเวลานานแล้วนั้น


ความคืบหน้าเรื่องนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับเอกสารรายงานการประชุมของคณะกก.พิจารณาสิทธิการครอบครองพระพุทธรูป ครั้ง1/2565 เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 ที่ห้องประชุมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช มีนางเรืองอุไรบุญช่วยชูพันธ์ เป็นประธานการประชุม และคณะกรรมการจากหลายๆฝ่ายทั้งตำรวจ ฝ่ายปกครอง นายเสริมกิจชัยมงคล ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช นายก อบต.บางจาก,พระมหาธงชัย โอภาโส เจ้าอาวาสวัดมัชฌิมภูมิ,พระสมุห์นัทธพัทธ์   ญาณวชิโร เลขานุการเจ้าวาสและจนท.นักวิชาการที่เกี่ยวได้เข้าประชุมหารืออย่างพร้อมเพรียง


ตอนหนึ่งของการประชุม นายเสริมกิจ ชัยมงคล ผอ.สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุม โดยรายงานผลตรวจสอบพระพุทธรูปไม้หรือพระลาก จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2564 ณ.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช โดยการเปรียบเทียบกับหลักฐานภาพถ่ายที่ทางวัดมัชฌิมภูมินำมาให้ตรวจสอบพบว่าบริเวณส่วนฐานของพระพุทธรูปมีความแตกต่างกับหลักฐานภาพถ่ายซึ่งมีลักษณะเป็นฐาน 3 ชั้น ส่วนฐานพระพุทธรูปที่พบมีลักษณะเป็นฐานชั้นเดียว ใต้ฐานเป็นเดือยไม่มีร่องรอยการตัดแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้เชื่อว่าเป็นพระพุทธรูปคนละองค์ อย่างไรก็ตามผู้แทนของวัดมัชฌิมภูมิได้นำเสนอว่าผู้แทนมีบุคคลที่สามารถยืนยันตำหนิของพระพุทธรูปไม้ได้ว่า บริเวณพระบาทขวามี3นิ้ว (อีก2นิ้วอยู่กับฐาน) ซึ่งที่ประชุมจึงขอให้ทางวัดนำบุคคลที่สามารถยืนยันตำหนิดังกล่าวมายืนยันต่อคณะกรรมการพิจารณาสิทธิครอบครองฯพิจารณาต่อไป ซึ่งกำลังรอผลตรวจสอบอีกครั้ง


ขณะที่นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ. นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า จากการตรวจสอบอย่างละเอียดของจนท.กรมศิลปากรพบว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าพระลากหรือพระพุทธรูปไม้องค์นี้ที่พบเป็นของวัดมัชฌิมภูมิ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบและพิสูจน์ให้ชัดเจนมากกว่านี้ และมีหลักฐานยืนยันชัดเจน ถึงจะส่งมอบคืนให้กับทางวัดได้ ตนพร้อมให้ความเป็นธรรมช่วยชาวบ้านและพระ หากมีหลักฐานชัดเจนแน่นอน โดยตนกำลังจะให้ทั้งสองฝ่ายมาพูดคุยกันอีกครั้ง ขอให้ชาวบ้านและพระเข้าใจด้วย แต่ถ้าหากทางพระและชาวบ้านวัดมัชฌิมภูมิ เปลี่ยนประเด็นใหม่มาแจ้งความประสงค์ว่าจะขออัญเชิญพระพุทธรูปไม้หรือพระลากองค์นี้ที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช ไปประดิษฐานไว้ที่วัดมัชฌิมภูมิ เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้กราบไหว้สักการะบูชาก็น่าจะเป็นทางออกที่พอจะมาพูดคุยกันได้.