“กรุงศรี” คาดเงินบาท อ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 ก.ค. 2563, 10:18 น. อ่าน : 1,509กรุงเทพฯ - “กรุงศรี” คาดเงินบาทซื้อขายในกรอบ 31.05-31.45 หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน จับตาพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เป็นปัจจัยที่ทั่วโลกติดตาม
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.05-31.45 ต่อดอลลาร์เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 31.28 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 1 เดือน ท่ามกลางความต้องการดอลลาร์ของภาคธุรกิจและราคาทองคำที่ผันผวน โดยเงินบาทสวนทางสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคซึ่งได้แรงหนุนจากเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 261 ล้านบาท และ 1.07 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
ทาง กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี
มองว่า ตลาดโลกจะติดตามผลการพัฒนาวัคซีนและยารักษา โควิด-19,
การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) วันที่ 15
ก.ค.รวมถึงการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) วันที่ 16 ก.ค.
หลังจากนักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในสัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยความสัมพันธ์ผกผันระหว่างตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์ยังคงดำเนินต่อไป ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19
รายใหม่ทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้การซื้อขายเป็นไปอย่างระมัดระวัง
ส่วนเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)
หลายรายแสดงความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวของสหรัฐฯปรับตัวลดลงเล็กน้อย
นอกจากนี้ นักลงทุนจะให้ความสนใจกับการประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรปช่วงท้ายสัปดาห์
ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินยูโร
เนื่องจากตลาดตั้งความหวังไว้ว่าจะมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมเกี่ยวกับกองทุนฟื้นฟู
(EU Recovery Fund) วงเงิน 7.5
แสนล้านยูโร เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการแพร่ระบาดของไวรัส
ขณะที่การเข้าสู่ฤดูร้อนของซีกโลกตะวันตกอาจทำให้สภาพคล่องการซื้อขายในตลาดการเงินลดต่ำลง
ส่งผลให้ความผันผวนสูงขึ้นได้
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.ระบุว่าเสถียรภาพระบบการเงินไทยเปราะบางเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่หดตัวมากกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มติดลบ กนง.เห็นว่าไม่ได้แสดงว่าไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงด้านเงินฝืด ขณะที่ กนง.เน้นย้ำว่ามาตรการทางการคลังที่ตรงจุดและทันท่วงที นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย รวมถึงมาตรการด้านสินเชื่อมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งประเมินว่านโยบายการคลังยังมีขีดความสามารถรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้ อนึ่งเราคาดว่าทิศทางนโยบายของทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ในระยะถัดไปจะมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นของตลาดท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ท้าทายสูง.