พัทลุง- “นาที รัชกิจประการ“ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลุยฝนเปิดกิจกรรม “ลงแขกดำนา ทำนาริมเล” แห่งเดียวของประเทศ เพื่อสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นแก่นักเรียน พร้อมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฯและระบบนิเวศในชุมชน นำร่องเป็นต้นแบบที่พัทลุง
การดำนาริมทะเลครั้งนี้ นางนาที รัชกิจประการ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคภูมิใจไทย ได้ไปเป็นประธานเปิดกิจกรรม “ลงแขกดำนา ทำนาริมเล” ที่ริมทะเลสาบลำปำ (ทะเลสาบสงขลา ตอนใน) บริเวณด้านหลังโรงเรียนวัดปากประ ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง เมื่อสายวันที่ 29 มิ.ย. 2563 ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพัทลุง เขต 1 และโรงเรียนวัดปากประ ร่วมกันจัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนและบุคคลทั่วไปได้ศึกษาวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนปากประ และเป็นการสร้างจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่นให้กับผู้เรียน รวมทั้งเป็นการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และระบบนิเวศในชุมชนบ้านปากประให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น โดยขณะนี้ทางโรงเรียนฯได้จัดโครงการตั้งศูนย์การเรียนรู้วิถีชีวิตชาวปากประ และระบบนิเวศริมทะเลริมทะเลสาบขึ้นโดยการทำนาริมเล เป็นวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นที่บรรพบุรุษชาวปากประได้สร้างไว้ ช้พื้นที่ชายฝั่งริมทะเลเป็นแปลงนา สำหรับพื้นที่ริมทะเลสาบลำปำนั้นมี สภาพดินจะเป็นดินตะกอนที่น้ำพัดมาทับถม จนทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ปลูกในครั้งนี้นั้นเป็นพันธุ์มะลิพวงและพันธุ์ กข. 43
นางสำรวย บุญน้อย อายุ 66 ปี อยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 11 ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้านในการทำนาริมทะเลสาบ เปิดเผยว่า การทำนาริมทะเลสาบนั้นมีการทำในพื้นที่หมู่ที่ 7,8,11 ต.ลำปำ มานานหลายปี มีเนื้อที่รวมกันมากกว่า 1,000 ไร่ พันธุ์ข้าวที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ข้าวหอมประทุม พันธุ์ กข.23,41,43, 55 พันธุ์หอมประทุม พันธุ์ชัยนาถ และพันธุ์หอมพวง ฯลฯ การทำนาดังกล่าวนี้ในแต่ละปีนั้นจะเริ่มหว่านข้าวในเดือน พฤษภาคม ปักดำนาในเดือนมิถุนายน และสามารถเก็บเกี่ยวข้าวในเดือน ตุลาคม – พฤศจิกายน โดยจะให้ผลผลิตมากกว่า 600 กิโลกรัม/ไร่ ไม่ต้องมีค่าใช่จ่ายในการซื้อปุ๋ยใส่นาข้าวแต่อย่างใด และในช่วงที่ข้าวแตกกอนั้นจะมีพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆเข้ามาอาศัย ขยายพันธุ์ เป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านสามารถจับพันธุ์สัตว์น้ำได้เป็นจำนวนมาก
ด้านนางนาที กล่าวว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนปากประ ในท้องที่ ม.8,11 ต.ลำปำอ.เมืองพัทลุง และพื้นที่ ม.7 ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง ในการทำนาริมทะเลสาบโดยใช้ทรัพยากรริมทะเลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์สิ่งที่ดีงามและทรงคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นจนสู่คนรุ่นหลังนั้น นับเป็นสิ่งที่มีคุณประโยชน์ต่อการสนับสนุนส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม และระบบนิเวศในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากการการทำนาดังกล่าวนี้มีเพียงแห่งเดียวของประเทศไทยและแห่งเดียวในโลก โดยในปีที่ผ่านมาช่วงเดือน กันยายน – ตุลาคม เป็นช่วงที่เก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวที่ปูกกริมทะเลสาบดังกล่าวนี้ จะมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ เดินทางเข้ามาเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก ตนจะได้ประสานงานกับสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุงเข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชนปากประ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้การท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น.