สื่อสารถูกต้อง เข้าใจ “ผู้ป่วยจิตเวช” ผ่าน “คู่มือคนทำงานด้านสื่อ”
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 ม.ค. 2567, 19:34 น. อ่าน : 559 กรุงเทพฯ - การนำเสนอภาพของผู้มีภาวะทางจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิตในแง่ลบผ่านสื่อต่างๆ เป็นปัญหาระดับสากลที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความสำคัญมาอย่างยาวนาน
โดยภาพแทนที่ถูกนำเสนอ ได้แก่ ผู้มีภาวะทางจิตเวชเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรง
เป็นอันตราย ไร้เหตุผล ฯลฯ นำไปสู่การตีตราในสังคม
ทำให้ผู้ป่วยไม่ยอมรับปัญหาและไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู
รายงานความสุขโลก
ปี 2565 พบว่า แนวโน้มความสุขคนไทยลดลงต่อเนื่อง จากลำดับ 32 ในปี 2560
ลงไปยอู่ลำดับที่ 61 ในปี 2565 รวมทั้งข้อมูลประเมินสุขภาพจิตคนไทยตลอดปี 2564
ยังพบสัดส่วนผู้มีภาวะเครียดสูง 14.5% เสี่ยงซึมเศร้า 16.8% เสี่ยงฆ่าตัวตาย 9.5%
สอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายระดับชาติ
ปี 2560 - 2564 ที่พบกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานตอนต้น (อายุ 15 - 24 ปี และ 25 - 34
ปี) มีแนวโน้มจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จสูงขึ้น นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19
ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ได้มาพร้อมกับภัยเงียบ นั่นคือ
ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
คู่มือสื่อ สร้างความเข้าใจผู้ป่วยจิตเวช
ล่าสุด สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำ คู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อ-ผู้จัดละคร และคลิกวิดีโอ เพื่อให้ผู้ผลิตละครโทรทัศน์ และผู้ผลิตสื่อประเภทอื่นๆ โดยการยกกรณีศึกษาจากซีรีย์เกาหลี ที่มีการสอดแทรกความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ เกี่ยวกับโรคจิตเวช อีกทั้งยังเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมระดับสากล เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิตผู้ป่วยจิตเวชและการดูแลผู้ป่วยจิตเวช
ดร.สุภาค์พรรณ ตั้งตรงไพโรจน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยความมั่นคงร่วมสมัยศึกษา
และหัวหน้าโครงการวิจัยการจัดการองค์ความรู้และพัฒนาคู่มือสำหรับคนทำงานด้านสื่อเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
กล่าวในการสัมมนาเชิงนโยบาย เรื่อง "สูญสิ้นสู่ความหวัง:
ร่วมประกอบสร้างเรื่องเล่าและข้อเสนอทางเลือกการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ"
ถึงที่มาของโครงการว่า ปัจจุบันแนวโน้มปัญหาสุขภาพจิต
หรือโรคทางจิตเวชเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันละคร ซีรีส์ เป็นสื่อที่ทรงพลัง
มีอิทธิพลต่อชุดความคิด ความเชื่อ ภาพจำที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช
ขณะเดียวกัน จากการศึกษาวิจัยการสื่อสารประเด็นสุขภาพจิตในซีรีส์เกาหลีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต
โดยเฉพาะโรคทางจิตเวช พบว่า สามารถช่วยสื่อสารข้อมูลที่ลดการตีตรา
และสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม นอกจากนี้
เนื้อหาของซีรีส์ยังถ่ายทอดเรื่องราวของโรคทางจิตเวชได้อย่างถูกต้อง จึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเวช
“โครงการนี้อยากจะสื่อให้เห็นถึงปัญหาสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชที่ถูกต้องและต้องการให้สังคมตระหนักรู้ว่า
คนที่เป็นโรคทางจิตเวช คือ คนปกติเหมือนคนทั่วไปในสังคมไทย
โรคทางจิตเวชเหมือนโรคอื่นๆ เช่น หวัด เบาหวาน
ที่ต้องรักษาสามารถพบหมอได้เป็นเรื่องปกติ อักทั้ง ยังมีการผลิตคลิปวิดีโอ 2 คลิป
เปรียบเทียบให้เห็นว่าอาการในละครและข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร
สิ่งที่ละครสื่อแบบไหนเป็นการตีตราแบบผิดๆ เพื่อลดการตีตราให้ผู้ป่วยจิตเวช
เพราะสื่อทรงพลัง เข้าถึงประชาชนได้มาก และเป็นวงกว้าง
จึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพจิตและโรคทางจิตเวชได้เป็นอย่างดี”
ดร.สุภาค์พรรณ กล่าว
สำหรับในคู่มือดังกล่าว ประกอบไปด้วย
ความสำคัญของการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ
ความหมายและความหลากหลายของปัญหาในปัจจุบัน แนวทางการนำเสนอประเด็นสุขภาพจิตในสื่อ
ตัวอย่างภาพยนตร์และซีรีย์ที่แนะนำ รวมถึง สุขภาพจิตในบริบทของสังคมไทย
และแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดี และการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
สสส. มุ่ง “สร้าง” นำ “ซ่อม”
ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สุขภาพจิต เป็นเรื่องที่ทำให้สังคมตื่นตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และทำให้คนมองว่าซึมเศร้า เครียด วิตกกังวล เป็นเรื่องที่ไม่น่าอาย เป็นจุดคานงัดที่สำคัญที่ผลักดันผู้ป่วยเข้าสู่บริการทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม จำนวนนักจิตวิทยาในไทย มีสัดส่วน 1 คน ต่อประชากรกว่า 1.4 แสนคน มิติสร้างนำซ่อมจึงถูกผลักดันและเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งโดยดึงภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
“เพราะการซ่อมเป็นงานที่เหนื่อย ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้ป่วยเท่านั้น
แต่คนรอบข้างในครอบครัวล้วนแต่ได้รับผลกระทบและใช้ชีวิตยากขึ้น สสส. มองถึงมิติ
ช่วยกัน “สร้าง” เสริมให้เข้มข้นมากขึ้น
แต่หากเมื่อไรที่ต้องส่งเข้ากระบวนการดูแลรักษา ต้องดูแลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบอย่างรวดเร็ว
เป็นมิตร และไม่ตีตรา บทบาทสำคัญ คือ ภาคประชาสังคม คนในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วม
ดูแล สนับสนุน เกื้อกูล ไม่ตัดสินและฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้ชุมชนสามารถขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นมิตร
ลดปัญหาความเครียด กังวล เป็นประเด็นที่สร้างนำซ่อม”
ดร.ชาติวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า สื่อเป็นฐานันดรที่สำคัญ เป็นกลไกที่ชี้นำให้สังคมเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น กลไกเชิงนโยบายที่เข้าไปผลักดันร่วมกับสื่อ เพื่อให้สื่อสื่อสารเชิงบวกมากขึ้น เพราะสื่อมีพลัง มีอำนาจ และสุขภาวะทางจิตเป็นเรื่องสำคัญ ทำอย่างไรให้กระบวนการพัฒนาสื่อ ผลิตสื่อ เชื่อมโยงมิติสร้างนำซ่อม เพื่อลดปัญหาของสังคมไทย ให้ทุกคนได้ใช้ชีวิตอย่างเข้าใจและมีความสุข.