สสส.สานพลังสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิต ชวนคนไทยออกกำลังใจ
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 15 ต.ค. 2566, 18:30 น. อ่าน : 489กรุงเทพฯ - สภาพสังคมในปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่หยุดนิ่ง สภาพเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากการระบาดของโรคโควิด-19 วัยทำงานมุ่งทำมาหากินหวังเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด จนไม่มีเวลาอยู่กับครอบครัว บุตรหลาน อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งแรงกดดัน และความเครียด หลายคนประสบปัญหาชีวิตและยังหาทางออกไม่ได้ เกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิตตามมา จากสถิติล่าสุดของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวช เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน
เนื่องใน วันสุขภาพจิตโลก วันที่ 10 ตุลาคม 2566 สถาบันวิชาการเพื่อความยั่งยืนทางสุขภาพจิต (Thailand Institute for Mental Health Sustainability : TIMS) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดงาน “Better Mind Better Bangkok” เปิดพื้นที่ระดมผู้เกี่ยวข้องและนวัตกรรมสร้างความยั่งยืนทางสุขภาพจิต โดย ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า สสส. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพจิตประชาชน มุ่งเน้น “สร้างเสริมและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต” สนับสนุนการสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับบุคคล สังคม สิ่งแวดล้อม และนโยบาย ด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม โดยสอดประสานการใช้ องค์ความรู้จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ที่ American Psychological Association เน้นย้ำถึงความสำคัญ นอกจากนี้ยังผลักดันร่วมกับการขับเคลื่อนนโยบาย รวมทั้งสื่อสารสาธารณะควบคู่การดำเนินการในพื้นที่ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพจิตให้ประชาชนทุกช่วงวัย สามารถเข้าใจตนเองและบุคคลรอบข้าง มีความเข้มแข็งทางใจ ทักษะเชิงบวก สามารถจัดการอารมณ์ ความเครียด รับมือ และจัดการปัญหาต่างๆ ได้
“สำหรับแนวทางส่งเสริมการสื่อสารเชิงบวกให้กับสังคม สสส. เร่งสื่อสารผ่านการประยุกต์ใช้จิตวิทยาเชิงบวก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความสุข โดยเน้นไปที่ ความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) การมองโลกในแง่ดี (Optimism) การล้มแล้วลุกไว (Resilience) และ ลดการตีตราผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่ากลุ่มอื่ ๆ โดยมีกิจกรรมสร้างประสบการณ์และผลิตงานเผยแพร่ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์และกิจกรรมกลุ่มในรูปแบบที่หลากหลาย รวมทั้งรวบรวมองค์ความรู้สื่อสารและมีความร่วมมือและสื่อ เช่น นักเขียน ผู้ผลิตละคร อินฟลูเอนเซอร์ นักประชาสัมพันธ์ต่างๆ เพื่อสร้างคอนเทนต์สื่อสารเชิงบวกกับสังคม แนะแนวทางการสื่อสารให้ทุกคน เท่าทันความรู้สึกและสติ บอกความรู้สึกตนเอง ชื่นชมให้เกียรติกัน รับฟัง เข้าใจ ไม่ตัดสิน และค้นหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ ยังเห็นว่าตัวเราเองต้องฝึกการออกกำลังใจ ซึ่งจะทำให้เราแข็งแกร่งมากขึ้น แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ แต่ต้องเรียนรู้ว่าเรามีความสุขกับสิ่งที่เราเป็น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเราต้องมีสติ กอดตัวเองก่อน การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ มี 2 องค์ประกอบ 1.การปรับภายในให้เข้มแข็งเพียงพอ 2.การมีระบบนิเวศน์ในการใช้ชีวิต หรือการมีคนที่เราสามารถไว้วางใจได้เมื่อเรามีปัญหา พร้อมเป็นผู้รับฟังที่ดี ท้ายที่สุดองค์การอนามัยโลกเคยตีพิมพ์บทความระบุว่า เมื่อยังคิดหาทางแก้ปัญหาไม่ได้ก็แค่นอนไปก่อน” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว
และจากสังคมปัจจุบันที่สื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทอย่างมากจนทำให้การแสดงความเป็นตัวตนถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปได้หลายแง่มุมจากคนในสังคมทั้งแง่มุมที่ดีต่อใจ
และแง่มุมที่ทำร้ายกัน
เป็นอีกตัวกระตุ้นที่ทำให้เราต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่จิตใจ มุมมองจาก
เขื่อน-ภัทรดนัย เสตสุวรรณ นักจิตวิทยาบำบัด นักขับเคลื่อน และศิลปิน เล่าว่า
กว่าจะมาถึงจุดที่เป็นตัวเองในปัจจุบันต้องผ่านการถูกดูถูกในสิ่งที่เป็นมาไม่น้อย
ทำให้ได้เห็นว่าความอ่อนแอทางจิตใจเริ่มจากการกลัวคนอื่นไม่ชอบ ไม่รัก
ซึ่งเราต้องก้าวข้ามให้ได้ ให้คิดเสมอว่าเราคิดต่างกันได้แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนอื่น
เราต้องมีพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งอาจไม่ใช่บ้านเสมอไปแต่เราต้องหาให้เจอ
การจะรู้สึกดีได้ก็ต้องรู้ก่อนว่าสิ่งไม่ดีคืออะไร
และเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกสภาพจิตใจย่ำแย่ไม่ต้องถามความเห็นจากคนอื่นแต่ให้เราเลือกพบจิตแพทย์เพื่อหาทางเยียวยาทันที
ปัญหาสุขภาพจิตในแต่ละคน เกิดจากปัจจัยแตกต่างกัน ความเข้มแข็งของสภาพจิตใจในแต่ละคนก็ต่างกัน กระบวนการเยียวยาจิตใจตัวเองจึงไม่มีสูตรสำเร็จ ดังนั้นเราเองต้องเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองให้มากที่สุด และเชื่อมั่นในสิ่งดีที่เราทำ แม้ท้ายที่สุดแล้วเมื่อปัญหาทางจิตใจเดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ได้ด้วยตนเอง การเข้าขอความช่วยเหลือจากนักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ เป็นสิ่งที่ใกล้ตัว ควรทำ และไม่ใช่เรื่องน่าอาย.