ผวจ.สงขลา เปิดงานเทศกาลกินเจ ประจำปี ของจังหวัด คนคึกคัก
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 17 ต.ค. 2566, 19:00 น. อ่าน : 483สงขลา-ผวจ.สงขลา ตีกลองเปิดงานเทศกาลกินเจ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 13 ของจังหวัดสงขลา สืบสานประเพณีชาวไทยเชื้อสายจีน ที่ อ.เมืองฯ จัดพิธีกรรมใหญ่ 2 แห่ง คนร่วมงานคึกคัก
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.66 เวลา 17.30 น. นายสมนึก พรหมเขียว ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา มอบหมายให้นายเศวตเพชรนุ้ย ปลัดจังหวัดสงขลา เป็นประธานในพิธีเปิดงานเทศกาลกินเจ ครั้งที่ 13 ประจำปี 2566 และลั่นกลองจีนพร้อมกับการแสดงเชิดสิงโต เพื่อความเป็นสิริมงคล ที่บริเวณท่าเทียบเรือประมงเก่า (ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา) อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยมี นายชัยวุฒิ บัวทอง นายอำเภอเมืองสงขลา นายดนุพล สุนทรัตน์ รองนายกเทศมนตรีนครสงขลา พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สมาชิกสภาเทศบาลนครสงขลา คณะกรรมการศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก ตลอดจนประชาชนเข้าร่วม
การจัดงานเทศกาลกินเจปีนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับ เทศบาลนครสงขลา ศาลเจ้าแม่กวนอิมสวนหมาก 5 สมาคมจีน พระตำหนักกวนซีอิมผ่อสักเคหะสถานครูไทย จัดงานเทศกาลถือศีลกินเจ เป็นปีที่ 13 ระหว่างวันที่ 14 - 24 ตุลาคม 2566 เพื่อส่งเสริมประเพณีถือศีลกินเจในพื้นที่เมืองสงขลา อนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของชาวไทยเชื้อสายจีน อีกทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของเมืองสงขลาโดยได้กำหนดสถานที่ประกอบพิธีกรรมไว้ 2 แห่ง คือ บริเวณศาลพระแม่กวนอิมสวนหมากและปะรำพิธีหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
ภายในงานมีกิจกรรมหลัก มีพิธีขึ้นเสาเทวดาและรับเสด็จองค์กิ๋วอ้วงฮุกโจ้ว ในวันที่ 14 ตุลาคม พิธีข้ามสะพานสะเดาะห์เคราะห์ ในวันที่ 17 และ 20 ตุลาคม พิธีขอขมาเจ้าสมุทร ลอยกระทงโปรดวิญญาณ ในวันที่ 18 ตุลาคม (ที่ท่าเรือหลังปะรำพิธี) พิธีแห่รอบเมืองและลุยไฟ ในวันที่ 21 ตุลาคม พิธีเทกระจาดและแจกทาน ในวันที่ 22 ตุลาคมและพิธีส่งเสด็จองค์กิ๋วอ้วงฮุกโจ้ว ในวันที่ 23 ตุลาคม
สำหรับคำว่า "เจ" หรือ "ไจ" (ภาษาจีนกลาง) ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน มีความหมายเดียวกับคำว่า"อุโบสถ" เปรียบเสมือนการถืออุโบสถศีล ไม่กินเนื้อสัตว์ ดำรงอยู่ในศีลธรรม ทำให้ความหมายของคำว่า "เจ" สื่อถึงการรักษาความบริสุทธิ์ทั้งกายและใจ เพื่อเป็นการสักการะบูชาองค์เทพที่นับถือ ส่วนป้ายคำว่า "เจ" ทั้งภาษาไทยและจีน ที่มักเห็นในประดับตามห้างร้านต่างๆ ในช่วงเทศกาลกินเจ เป็นการสื่อว่า "ไม่มีของคาว" (ไม่มีเนื้อสัตว์) โดยตัวอักษรสีแดง เป็นตัวแทนของความเป็นสิริมงคล ส่วนพื้นหลังสีเหลือง เป็นตัวแทนของพระพุทธศาสนานั่นเอง.