สงขลา- “นิพนธ์ บุญญามณี” รมช.
มหาดไทย นำ ผอ.องค์การจัดการน้ำเสีย ลงพื้นที่คลองสำโรง-หาดเก้าเส้ง จ.สงขลา เร่งแก้ไขปัญหาน้ำเสีย ฟื้นฟูคืนสภาพโดยเร็ว
ความคืบหน้าการแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย ในคลองสำโรง-หาดเก้าเส้ง อ.เมืองสงขลา ที่นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย มีความห่วงใย และได้สั่งการให้องค์การจัดการน้ำเสีย(อจน.) เข้ามาเร่งแก้ไข
โดยเร็วนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนสายวันที่ 13 มิถุนายน 2563 นายนิพนธ์ ได้ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังแนวทางการแก้ไขคลองสำโรง จากเจ้าหน้าที่องค์การจัดการน้ำเสีย นำโดยนายชีระ วงศ์บูรณะ ผู้อำนวยการจัดการน้ำเสีย ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ อจน. พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ตัณติเศรณี นายกเทศบาลนครสงขลา และนายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา ที่บริเวณปากคลองสำโรง อำเภอเมืองสงขลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่คณะของนายนิพนธ์จะลงพื้นที่ ทางสำนักงานป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้มีการแก้ปัญหาเบื้องต้น นำรถแบคโฮคอยาวมาขุดลอกขยายปากร่องน้ำคลองสำโรงให้กว้างขึ้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำการปรับภูมิทัศน์พื้นที่บริเวณชายหาดคลองสำโรงดังกล่าว เพื่อปรับทัศนียภาพความสวยงามของปากคลองสำโรง อีกด้วย
นายนิพนธ์กล่าวว่า คลองสำโรงเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างเทศบาลนครสงขลากับเทศบาลเมืองเขารูปช้าง เป็นเส้นทางสัญจรมาตั้งแต่สมัยโบราณกาลแล้ว และเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยกับทะเลสาบสงขลา ทำให้คลองสำโรงนี้มีความเป็นมายาวนานคู่กับประวัติศาสตร์เมืองสงขลา แต่เดิมใช้คลองสายนี้เป็นเส้นทางการค้าขาย หรือการเข้ามาของเรือสำเภา โดยก่อนหน้านี้คลองสำโรงเป็นคลองที่นับว่าเป็นทั้งเส้นทางท่องเที่ยวด้วย เมื่อชุมชนมีมากขึ้นเส้นทางแห่งนี้เริ่มมีปัญหาในเขตชุมชนหนาแน่นขึ้น จึงต้องมีการวางแผนเรื่องการบำบัดน้ำเสีย โดยน้ำที่ใช้แล้วเมื่อก่อนไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย ฉะนั้นเมื่อบ้านเรือนหนาแน่นมากขึ้นจึงเป็นเหตุให้น้ำเสียไหลลงสู่คลองสำโรงมากขึ้นประกอบกับฤดูกาลของต้นน้ำตื้นเขิน เมื่อมีลมมรสุมพัดเข้ามาจะเอาทรายมาปิดปากร่องน้ำ จนทำให้น้ำไม่สามารถเข้ามาระบายหรือถ่ายเทได้ ทำให้เกิดน้ำขัง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำใหมีน้ำเสียมากขึ้น ฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูคลองสำโรง ให้กับมาเป็นน้ำใสให้ได้ จึงต้องมาดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนมากขึ้น
ดังนั้นจึงมอบนโยบายให้กับองค์การกำจัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมหาดไทยมาทำการศึกษาออกแบบสำรวจตลอดเส้นทางในคลองสำโรงทั้งหมดว่า มีมาตรการอย่างไรบ้างในการทำให้คลองสำโรงมีคุณภาพน้ำที่ดีและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเมืองสงขลาและเขารูปช้างในเบื้องต้น จึงต้องขอขอบคุณองค์การจัดการน้ำเสียที่ได้มาสำรวจออกแบบและทราบว่าในปี 2564 จะมีงบประมาณก้อนแรกเข้ามาดูแลที่จะรวบรวมน้ำเสียฝั่งเขตเทศบาลนครสงขลาก่อน ในการรวบรวมเข้าท่อบำบัดจะไม่ให้ปล่อยลงไปในคลองสำโรง
“แต่ว่าส่วนหนึ่งบ้านที่อยู่ริมคลองจะเป็นปัญหาอุปสรรคอยู่ จึงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งคลองให้ช่วยกันดูแลระบบนิเวศช่วยกันดูแลการจัดการน้ำเสียครัวเรือน ส่วนไหนที่จะทำให้น้ำเคลื่อนตัวได้ก็จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำ ส่วนไหนที่ไม่มีการเคลื่อนไหวจะทำให้เกิดน้ำเสีย นานไปเข้าจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพของพี่น้องประชาชน จึงขอถือโอกาสเชิญชวนพี่น้องใครมีมาตรการหรือจุลินทรีย์อันใดที่ช่วยกำจัดน้ำเสียได้ก็อยากให้ช่วยกันดูแลน้ำเสียในบริเวณชุมชนของแต่ละคน ที่สำคัญไม่ว่าเราจะมีมาตรการอย่างไรในการที่จะดูแลระบบน้ำเสีย ถ้าพี่น้องประชาชนทั้งสองฝั่งคลองไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ จึงถือโอกาสนี้ขอความร่วมมือและช่วยกันดูแลให้คลองสำโรงแห่งนี้เป็นคลองน้ำใสให้ได้" นายนิพนธ์กล่าว
นายชีระ วงศบูรณะ ผู้อำนวยการองค์การจัดการน้ำเสีย กล่าวว่า แผนแม่บททั้งหมดที่เทศบาลนครสงขลามีอยู่แล้ว เริ่มตั้งแต่จะหางบประมาณมาล้างท่อน้ำเสีย ซึ่ง รมช.มหาดไทยมองเห็นภาพรวมทั้งหมดแล้ว ยังเหลือแต่ขั้นตอนปฏิบัติและความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งจะเริ่มใน 2564 ส่วนการก่อสร้างส่วนเพิ่มเติม เพราะมีบางส่วนที่ท่อน้ำเสียไหลลงคลองสำโรง อจน.จะไม่ทำให้น้ำเสียไหลลงคลองสำโรง การล้างท่อยังต้องใช้ระยะเวลาทำ เพราะจะติดในเรื่องของงบประมาณในการล้าง แต่จะพยายามและช่วงนี้อยู่ในจังหวะที่พอดี อจน.ได้รับคำแนะนำจากท่านนายกสมศักดิ์ ว่าควรจะมาทำความสะอาดกันสักครั้งหนึ่ง ส่วนนักวิชาการทั้งสองท่านก็มีข้อมูล ซึ่งจะนำข้อมูลมาสู่การปฏิบัติ และได้มีการศึกษามาแล้ว จะได้นำมาประยุกต์ใช้ร่วมกัน
นอกจากนี้ ได้นำอุปกรณ์ เครื่องตรวจวัดน้ำมา ทำการตรวจวัดน้ำในบริเวณปากคลองสำโรง พบว่าจากการเปิดปากน้ำให้น้ำทะเลไหลเข้ามาแล้ว ทำให้ค่าอ๊อกซิเจนในน้ำมีปริมาณที่มากกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ซึ่งจะทำให้สัตว์น้ำสามารถอยู่ได้ พร้อมกันนี้ยังได้นำจุลินทรีย์ มาหย่อนลงในคลองสำโรง เพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียและส่งกลิ่นเหม็น ในการแก้ไขปัญหาบรรเทาความเดือดร้อน อันเนื่องจากน้ำเน่าเสีย ให้แก่ประชาชนตลอดคลองสำโรง.