เสริมแกร่งอาชีพผู้หญิงชายแดนใต้ สร้าง “เสาหลัก” ให้ครอบครัว ผ่านโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต
หมวดหมู่ : ภาพข่าวสังคม, สงขลา, ทั่วไป, ภาคใต้,
โฟสเมื่อ : 13 ก.ย. 2566, 20:05 น. อ่าน : 527สงขลา - โครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิตของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย ช่วยเหลือครอบครัวของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความความรู้ความสามารถของตนสู่ความสำเร็จของชีวิต
“หลังจากที่สามีเสียชีวิต ลูกๆ ยังเพิ่งเข้าเรียน ตอนนั้นเองที่ทางมูลนิธิรักษ์ไทยและบริษัทเชฟรอนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือให้เราได้ทำขนมเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัวต่อ จนตอนนี้ลูกคนสุดท้องกำลังจบแล้ว ในฐานะแม่เลี้ยงเดี่ยวที่มีลูก 5 คน จึงภูมิใจมากๆ ที่ส่งลูกทุกคนให้เรียนจบได้ด้วยน้ำพักน้ำแรงเรา”
นางสาวแวลีเมาะ
สาแล หนึ่งในสตรีกลุ่มเจาะหู บ้านปาหนัน อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
ที่ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์อาชีพจากโครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ของ บริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิรักษ์ไทย
กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจกับการได้ลุกขึ้นมาเป็น “เสาหลัก”
ของครอบครัวในวันที่ชีวิตต้องนับหนึ่งใหม่จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
และฝ่าฟันอุปสรรคด้วยความรู้ความสามารถของตนสู่ความสำเร็จของชีวิตในวันนี้ที่สามารถส่งลูกๆ
เรียนจบ
จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ได้สร้างบาดแผลและพรากโอกาสชีวิตแก่ผู้คนจำนวนมาก โดยสำหรับหลากหลายครอบครัว
ผู้หญิงต้องแบกรับหน้าที่เสาหลักเพื่อหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในบ้านท่ามกลางความท้าทายด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้นกับรายได้ที่ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
ทำให้เกิดความเสี่ยงที่สมาชิกครอบครัวในวัยเรียนจะหลุดออกจากระบบการศึกษา
รวมถึงกระทบคุณภาพชีวิตโดยรวมของครอบครัว เพราะ “โอกาส” คือทุนที่สานต่อ “ชีวิต”
ดังนั้น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
ในฐานะบริษัทที่เชื่อมั่นในพลังคนจึงได้สนับสนุนงบประมาณ โครงการ “เชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต”
ตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 ให้มูลนิธิรักษ์ไทยที่ทำงานด้านการส่งเสริมอาชีพผู้หญิงมากว่า
12 ปี
ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาอาชีพและสนับสนุนอุปกรณ์อาชีพให้กับสตรีกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในจังหวัดปัตตานี
ยะลา นราธิวาส
เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้หญิงมีทางเลือกในชีวิตทั้งจากการสร้างอาชีพใหม่
และพัฒนาอาชีพเดิมให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
พร้อมต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจและฐานที่มั่นของครอบครัว
นางสาวแวลีเมาะ กล่าวเสริมว่า “จากที่เริ่มทำขนมเจาะหูจนถึงตอนนี้ก็ผ่านมา 25 ปีแล้ว จุดเริ่มต้นมาจากที่เราอยากทำอาชีพค้าขาย จึงได้เรียนรู้และคิดค้นสูตรขนมเจาะหูแบบโบราณเพื่อนำไปขาย พอมีกำไรน้อยๆ ก็สามารถเริ่มซื้อเตาอบได้ แต่ต่อมาหลังจากที่สามีเสียชีวิต เราต้องรับภาระหน้าที่หารายได้เพื่อประคองครอบครัวให้ลูกๆ ทุกคนได้เรียนหนังสือ เลยได้รู้จักมูลนิธิรักษ์ไทยและเชฟรอน ทางมูลนิธิจึงสนับสนุนเครื่องทองพับมาให้ หลังจากที่ทำต่อได้ปีกว่าและมีเตาอบเครื่องใหม่มา ทำให้มีรายได้มากขึ้นและส่งลูกทั้ง 5 คนเรียนจบได้ ในวันนี้รู้สึกภูมิใจมากที่ความตั้งใจของเราเป็นจริง และอยากให้คนอื่นๆ ได้มีโอกาสแบบนี้เหมือนกัน”
แม้จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ “ทุนเพื่อชีวิต” สามารถช่วยต่อยอดรายได้และสร้างโอกาสมากมาย ไม่เพียงแต่ผู้หญิงกลุ่มเปราะบางเท่านั้น แต่ยังส่งต่อไปถึงคนในครอบครัวได้อย่างแท้จริง โดย นางสาวเพ็ญนภา คงดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย สำนักงานปัตตานี กล่าวถึงกระบวนการสนับสนุนกลุ่มสตรีและการเปลี่ยนแปลงที่ได้เห็นว่า “จากการที่เป็นคนในชุมชนอยู่แล้ว เราเห็นถึงอุปสรรคของผู้หญิงในชายแดนใต้ โดยการทำงานของเราคือไม่ใช่เข้าไปช่วยเท่านั้น แต่ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยและดูความพร้อมรวมถึงความต้องการของแต่ละกลุ่มที่จะเข้าไปสนับสนุนด้วย โดยนอกจากอุปกรณ์แล้ว เราต้องคอยสอบถามว่าแต่ละกลุ่มยังขาดอะไร พร้อมทั้งช่วยเสริมทักษะอาชีพตามจุดแข็งของกลุ่ม เช่น หาครูมาสอนเย็บผ้า โดยหลังจากทำโครงการมาได้ระยะหนึ่งเราเริ่มเห็นว่ากลุ่มผู้หญิงเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินเก็บ มีรายได้ส่งให้ครอบครัวได้เรียนหนังสือ รวมถึงยังมีเพื่อนฝูงคอยแลกเปลี่ยนความรู้ด้วยกันอีกด้วย พอรู้สึกว่าตนเองดีขึ้น เขาก็เข้าใจคนที่ต้องการความช่วยเหลือและยื่นมือไปช่วยคนอื่นต่อ ยกตัวอย่างเช่น ผู้หญิงที่มาเล่าให้ฟังบ่อยๆ ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญปัญหาเรื่องการเงิน เราจึงสนับสนุนรถเข็นเพื่อให้ขายปาท่องโก๋และขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถพัฒนาสูตรและขายเป็นแฟรนไชส์ให้พื้นที่อื่นได้อีกด้วย ซึ่งนอกจากจะหารายได้เลี้ยงครอบครัวได้แล้ว เขายังภูมิใจที่ได้ฝ่าฟันความยากลำบากและประสบความสำเร็จด้วยมือของตนเอง”
ด้าน
นางสาวกิติมา มะสูละ หนึ่งในสตรีกลุ่มผ้าบาติกบ้านกูยิ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส
ได้เล่าถึงการขยายธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ว่า “เราชอบการทำผ้าบาติกอยู่แล้ว
โดยช่วงแรกเริ่มจากทำให้ครอบครัวใส่
หลังจากนั้นพอมีคนสนใจมากขึ้นจึงตั้งกลุ่มกับเพื่อนและรวบรวมคนที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพ
ซึ่งตอนแรกเราใช้จักรเย็บผ้าแบบถีบ แต่กว่าจะผลิตได้แต่ละตัวต้องใช้เวลา
พอทางโครงการฯ มาสนับสนุนจักรอุตสาหกรรมเราเลยสามารถแปรรูปสินค้าได้หลากหลาย
ทั้งกระเป๋า ซองใส่โทรศัพท์ ผ้าพันคอ
ทำให้ผลิตสินค้าได้เร็วแถมมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์แปรมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้จริง
จนในตอนนี้กลุ่มผ้าบาติกบ้านกูยิของเราได้พัฒนาจนชนะการประกวดในนามกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเป็นอันดับหนึ่งของจังหวัด
และกำลังจะประกวดในระดับประเทศต่อไป”
อีกหนึ่งหัวใจหลักที่ต่อยอดความสำเร็จของโครงการฯ คือ การผสานความเข้มแข็งระหว่างทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายชุมชน โดย นายปฏิเวธ บุณยะผลึก รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายสุขภาพ ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวถึงความมุ่งมั่นของเชฟรอนที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนว่า “ในฐานะบริษัทพลังงานระดับโลกที่เชื่อมั่นในพลังคนที่ดำเนินธุรกิจและเป็นพันธมิตรที่ดีกับสังคมไทยมากว่า 60 ปี หนึ่งในพันธกิจสำคัญของเชฟรอนคือการส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของชุมชนให้แข็งแกร่งเพื่อขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน โดยความมุ่งมั่นนี้ได้สะท้อนผ่าน โครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ที่สร้างโอกาสและเครือข่ายอันแข็งแกร่งแก่กลุ่มอาชีพสตรีให้มีรายได้เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นโครงการระยะยาวที่เราดำเนินงานมาต่อเนื่องถึง 9 ปี จนถึงปัจจุบัน โครงการฯ ได้สนับสนุนอุปกรณ์ให้กลุ่มอาชีพกว่า 116 กลุ่ม รวมถึงมีผู้รับประโยชน์โดยตรงมากกว่า 1,500 คน อีกทั้งโดยอ้อมสำหรับสมาชิกในครอบครัวอีกกว่า 20,000 คน ซึ่งทางเชฟรอนรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้สร้างโอกาสให้ผู้หญิงที่ต้องรับผิดชอบรายจ่ายในครอบครัวมีอาชีพเป็นของตัวเองและมีรายได้เพิ่ม ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของความสำเร็จผ่านศักยภาพพลังคนอย่างแท้จริง”
ตลอด 9 ปีที่ผ่านมา โครงการเชฟรอน-ทุนเพื่อชีวิต ได้คืนโอกาสและรอยยิ้มของกลุ่มสตรีชายแดนใต้ให้กลับมาสดใสอีกครั้งด้วยความภาคภูมิใจจากน้ำพักน้ำแรงของตนเอง โดยความสำเร็จดังกล่าวไม่เพียงแต่สะท้อนผ่านรายได้ที่เพิ่มขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ยังตามมาด้วยการสานสัมพันธ์ในกลุ่มสตรีด้วยกัน พร้อมเปลี่ยนบทบาทสู่ “ผู้มอบโอกาส” ที่ส่งต่อความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่กำลังเผชิญอุปสรรคแบบเดียวกันให้สามารถลุกขึ้นเป็น “เสาหลัก” ผ่านพลังของตนเอง.