สคร.12 สงขลา เตือน ปชช. ภาคใต้ตอนล่าง หน้าฝนระวังป่วยโรคไข้ดิน
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 26 ต.ค. 2565, 10:30 น. อ่าน : 577 สงขลา -
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา
เตือนประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ระวังป่วยด้วย โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)
หรือโรคไข้ดิน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง
โรคธาลัสซีเมีย และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะเลี่ยงสัมผัสดินและน้ำ เมื่อมีบาดแผล
ไม่เดินเท้าเปล่า ใส่บูทยาวเมื่อต้องลุยน้ำ และดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาดหรือน้ำต้มสุก
หากมีอาการไข้ร่วมกับประวัติสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ป้องกัน
ให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติเสี่ยง
นายแพทย์เฉลิมพล
โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส
ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรค กองระบาดวิทยา
กรมควบคุมโรค พบว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 กันยายน 2565 เขตสุขภาพที่ 12 มีรายงาน ผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวน 51 ราย
โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ สงขลา จำนวน 24 ราย รองลงมา ตรัง 9 ราย,
พัทลุง 8 ราย, นราธิวาส 6 ราย, ปัตตานี 3 ราย และสตูล 1 ราย พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง
โดยผู้ป่วยเพศชาย ร้อยละ 70.59 ผู้ป่วยเพศหญิง ร้อยละ 29.41
ผู้ป่วยที่พบส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุ
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ 55-64 ปี ร้อยละ 29.41 รองลงมาคือ 65 ปีขึ้นไป ร้อยละ
23.53 และรายงานผู้เสียชีวิต 12 ราย ได้แก่ สงขลา 7 ราย, ตรัง
3 ราย, ปัตตานี 1 ราย และสตูล 1 ราย
จากการสอบสวนโรคพบว่า
ผู้เสียชีวิตมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน ร้อยละ 87.50
ประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสดินเป็นประจำ (ทำสวน ดำนา ขุดดิน หาปลา เลี้ยงวัว)
โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 75
ปลูกต้นไม้และปลูกผักบริเวณบ้านโดยไม่สวมอุปกรณ์ป้องกัน ร้อยละ 25
โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis)
เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย
สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ
นาข้าว ท้องไร่ แปลงผัก สวนยาง ทั่วทุกภาคในประเทศไทย
พบรายงานผู้ป่วยมากในช่วงฤดูฝน (ตุลาคม - ธันวาคม) และถือเป็นโรคประจำถิ่นที่พบผู้ป่วยประปรายได้ตลอดปี
โดยผู้ป่วยมักรับเชื้อที่อยู่ในดินและน้ำ สามารถติดต่อได้ 3 ทาง คือ
1.ทางผิวหนังที่มีบาดแผล
หรือผิวหนังที่อ่อนนุ่มจากการแช่น้ำหรือสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะ
2.หายใจเอาฝุ่นจากดินหรือน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป 3.ดื่มหรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป
และพบว่าระยะฟักตัวของเชื้อ คือ 1-21 วัน บางรายอาจนานเป็นปี
ผู้ติดเชื้อจะมีอาการหลากหลายจนถึงไม่มีอาการ
ผู้ป่วยมักมีอาการไข้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือ ไข้เรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีเนื้อตาย แผล ฝี หนองที่ปอด ตับ ม้าม แผลอักเสบเรื้อรัง
ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
ฉะนั้น หากมีไข้สูง
เป็นเวลานานเกิน 3 วัน หรือเกิดแผลฝีหนองตามร่างกาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง
ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติเสี่ยง สำหรับการรักษา ผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรคเมลิออยโดสิสจะได้รับการเก็บตัวอย่างเพื่อเพาะเชื้อยืนยันการวินิจฉัย
จากนั้นแพทย์จะให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะที่เฉพาะเจาะจงและเหมาะสม
กับผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ต่อเนื่องอย่างน้อย 14 วัน หากยังมีเชื้อหลงเหลืออยู่
แพทย์จะพิจารณาปรับยาปฏิชีวนะเพิ่มตามความเหมาะสม
เพื่อฆ่าเชื้อและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ
ทั้งนี้ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่ คือ ผู้ประกอบอาชีพสัมผัสดินและน้ำโดยตรงเป็นเวลานาน เช่น เกษตรกร ทำนา ทำสวน และประมง โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง, โรคเบาหวาน, โรคติดสุรา, โรคไตเรื้อรัง หรือผู้มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้มีภูมิคุ้มกันต่ำอื่นๆ เช่น โรคมะเร็ง ผู้ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยที่ได้รับยา สเตียรอยด์เป็นเวลานาน หรือผู้ที่ทานยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด ยาลูกกลอนที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อน มีความเสี่ยงต่อโรครุนแรงสูงขึ้น
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรคเมลิออยโดสิส ได้แก่ 1.ผู้ที่มีบาดแผลให้หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลนหรือสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากจำเป็นขอให้สวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาวหรือ ชุดลุยน้ำและรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและสบู่ 2.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ทุกครั้งเมื่อทำงานหรือมีกิจกรรมที่สัมผัสดินหรือโคลน 3.หากมีบาดแผลที่ผิวหนัง ควรรีบทำความสะอาดบาดแผล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะแห้งสนิท 4.ทานอาหารปรุงสุก ดื่มน้ำต้มสุก 5.หลีกเลี่ยงการสัมผัสลม ฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422.