เตือนเกษตรกรชาวสวนยางพารา เฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาด

หมวดหมู่ : ยะลา, ทั่วไป,

อ่าน : 1,062
อำเภอเบตง เตือนเกษตรกรชาวสวนยางพารา
เตือนเกษตรกรชาวสวนยางพารา เฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาด

ยะลา-เกษตรอำเภอเบตง เตือนเกษตรกรชาวสวนยางพารา เฝ้าระวังโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ระบาดในพื้นที่พร้อมแนะนำวิธีป้องกันกำจัด

      

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 ม.ค.2565 นายอารีฟ มหัศนียนนท์ เกษตรอำเภอเบตง เปิดเผยว่า ขณะนี้ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งมีเกษตรกรปลูกยางพาราจำนวนมาก พบการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่ ที่เกิดจากเชื้อรา Pestalotiopsis sp. หรือเชื้อรา Colletotrichum sp. สามารถแพร่ระบาดโดยการพัดไปตามกระแสลม และน้ำฝน รวมถึงการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์หรือวัสดุปลูกจากแปลงที่เกิดโรค หากเกิดการระบาดจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตน้ำยางได้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่กระจายในวงกว้าง  สำนักงานเกษตรอำเภอเบตงจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ ลงพื้นที่สำรวจพร้อมสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคใบร่วงยางพาราและโรคใบร่วงยางพาราชนิดใหม่


สำหรับโรคใบร่วงยางพารา เกิดจากเชื้อรา Phytophthora botryosa Chee หรือ P. palmivora (Butler) หากเกิดโรคจะมีลักษณะ ใบแก่ เกิดจุดแผลฉ่ำน้ำ ขนาดไม่แน่นอน บริเวณก้านใบมีรอยช้ำ จุดกึ่งกลางของรอยแผลช้ำ มีหยดน้ำยางเกาะอยู่ ใบย่อยหลุดร่วงจากก้านใบ ใบร่วงทั้งที่ยังมีสีเขียวสด หรือเหลือง หากเชื้อเข้าทำลายฝักจะเกิดอาการเน่า โดยอาจพบเชื้อรา สีขาวเจริญปกคลุม ฝักไม่แตก และไม่ร่วงหล่น  ซึ่งอาการเริ่มแรก จะเกิดจุดช้ำบริเวณใต้ใบ และด้านบนของใบบริเวณเดียวกันจะเป็นสีเหลืองลักษณะกลม ต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นสีคล้ำ ขอบแผลดำและกลายเป็นเนื้อเยื่อแห้งสีน้ำตาลจนถึงขีดขาวซีด รูปร่างจุดแผลค่อนข้างกลม รอบแผลไม่มีสีเหลืองล้อมรอบ จำนวนมากกว่า 1 จุด อาจซ้อนกันเป็นแผลขนาดใหญ่ เมื่ออาการรุนแรงจะเกิดใบเหลืองและร่วง

      

เกษตรอำเภอเบตง  เปิดเผยอีกว่า ในส่วนของการป้องกันกำจัด ขอแนะนำดังนี้

1) ใส่ปุ๋ยบำรุงสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้กับต้นยางพารา เมื่อเกิดอาการใบเหลืองและร่วง ต้นยางจะสามารถสร้างใบใหม่ออกมาทดแทนใบยางที่ร่วงเนื่องจากโรคได้อย่างรวดเร็ว

2) ใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ ได้แก่ เชื้อราไตรโครเดอร์มา ควบคุมเชื้อสาเหตุโรคที่ติดมากับใบที่ร่วงลงดิน และจะช่วยส่งเสริมให้ต้นยางแข็งแรง

3) พ่นสารเคมีควบคุมโรค โดยฉีดพ่นบริเวณทรงพุ่มและพื้นดินให้ทั่วแปลงเมื่อพบการระบาดที่รุนแรง โดยฉีดพ่นพุ่มใบอย่างน้อย 2 ครั้ง ทำซ้ำทุก 7-15 วัน และฉีดพ่นพื้นสวนที่มีใบที่เป็นโรคร่วงหล่นด้วย 


หากพบการระบาดเสียหายรุนแรง แนะนำให้เกษตรกรแจ้งประสานมายัง สำนักงานเกษตรอำเภอเบตง  โทร. 073231370  เพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาต่อไป.