แต่งตั้ง รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รักษาการอธิการบดีคนใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 18 พ.ค. 2565, 17:02 น. อ่าน : 935 สงขลา -
สภามหาวิทยาลัยทักษิณ ในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 7
พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
และให้ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป
จากประสบการณ์ของ รศ.ดร.ณฐพงศ์
จิตรนิรัตน์ ที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ,รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา,รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน
และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ
รวมทั้งบทบาทในฐานะนักวิชาการทำงานร่วมกับชุมชนในหลายมิติมาอย่างยาวนาน
และจากบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมสูงวัย
ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเข้าสู่สังคมดิจิทัล และที่สำคัญคือสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นำมาซึ่งพลวัตและพลัง “การทบทวนโลกาภิวัตน์” (Rewiring
Globalization) “โลกาภิวัตน์ที่ลดลง” (Deglobalization) มีการสร้างความหมายและอัตลักษณ์ใหม่ของความเป็นรัฐชาติ/ท้องถิ่นภิวัตน์ (Localization)
ที่เข้มข้นเด่นชัด เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ได้นำมาเสนอวิสัยทัศน์ “The University of
Glocalization” ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อความรู้
การสานพลังระหว่างท้องถิ่น และความเป็นสากล หรือโลกาภิวัฒน์
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวว่า จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ ไปสู่มหาวิทยาลัยที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งเพื่อท้องถิ่นและเพื่อสังคม ตามปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสังคมและเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยกำหนด “หมุดหมาย” (Milestones) การบริหารเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยในเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน 6 หมุดหมาย คือ 1) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ 2) สร้างผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 3) การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน 4) พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน 5) พัฒนามหาวิทยาลัยสู่มาตรฐานระดับนานาชาติบนฐานท้องถิ่น และ 6) มีบริหารจัดการที่เป็นระบบเลิศ
รศ.ดร.ณฐพงศ์
จิตรนิรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า“มหาวิทยาลัยกำลังอยู่ในสถานการณ์เปลี่ยนผ่านที่สำคัญจากสถานการณ์ภายใน-ภายนอก
และถูกคาดหวังจากสังคม
ผมจะผลักดันให้มหาวิทยาลัยทักษิณเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานราก
โดยให้ความสำคัญกับการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากชุมชนทุกมิติ จัดการเรียนรู้ที่หลากหลายในแพลตฟอร์มใหม่ๆ การแก้ไขปัญหาสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ (Lost
Generation) การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมการเชื่อมโยงกับสังคมบนฐานภูมิปัญญา
เศรษฐกิจสร้างสรรค์ การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม
และการสร้างภาคีความร่วมมือที่หลากหลายทุกระดับ”.