ม.ทักษิณ ลงนามร่วมมือบูรณาการแก้ไขปัญหาความยากจน
หมวดหมู่ : พัทลุง, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 9 ส.ค. 2564, 16:00 น. อ่าน : 1,435 เมื่อวันที่ 9
สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum
of Understanding : MOU) “การพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพัทลุง
ภายใต้โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง”
ระหว่าง มหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย 24 หน่วยงาน ผ่านระบบออนไลน์ ณ
ห้องประชุมบัวหลวง อาคารทักษิณาคาร มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยมี รศ.ดร.วิชัย
ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ประธานในพิธีเปิดโครงการและพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ภายในงานยังจัดให้มีการเสวนาและบรรยายพิเศษ โดย ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือและการขับเคลื่อนโครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยาในจังหวัดพัทลุง”
และได้รับเกียรติจาก นายฉัตรชัย อุสาหะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงนโยบายการพัฒนาเพื่อพัทลุง
ตลอดจนการเสวนา “บทเรียนและประสบการณ์การงานพัฒนาและการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุง”
โดยตัวแทนจากภาคประชาคม ภาควิชาการ และหน่วยงานภาครัฐ
บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
(MOU)
“การพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพัทลุง
ภายใต้โครงการการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง” ระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย
24 หน่วยงาน ประกอบด้วย
สำนักงานจังหวัดพัทลุง
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดพัทลุง
สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง
สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดพัทลุง สำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
จังหวัดพัทลุง สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพัทลุง สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดพัทลุง
สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดพัทลุง
สำนักงานแรงงานจังหวัดพัทลุง สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง
สำนักงานประมงจังหวัดพัทลุง สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพัทลุง สำนักงานจัดหางานจังหวัดพัทลุง
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพัทลุง
สำนักงานสถิติจังหวัดพัทลุง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
สำนักงานภาคใต้องค์การบริหารส่วนจังหวัดพัทลุง หอการค้าจังหวัดพัทลุง
สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดพัทลุง ขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดพัทลุง
โดยมีวัตถุประสงค์ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
ดังนี้
1.เพื่อส่งเสริม
สนับสนุนการแลกเปลี่ยนฐานข้อมูลการพัฒนาพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดพัทลุง
ที่เกิดจากการบูรณาการข้อมูลจากภาคี รวมทั้งการพัฒนาระบบและโครงสร้างการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วม
2.เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในพื้นที่จังหวัดพัทลุง
ให้สามารถพัฒนาระบบค้นหาและสอบทานเพื่อช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ
การรวบรวมข้อมูลคนจนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือ
การพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่
รูปแบบการจัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มทักษะการดำรงชีวิตและข้อเสนอเชิงนโยบายที่เชื่อมโยงกับแผนและยุทธศาสตร์ของจังหวัดพัทลุง
3.เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ
ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและองค์กรชุมชน สถาบันวิชาการ
ในการแก้ไขปัญหา การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจนเป้าหมายในจังหวัดพัทลุง
การสร้างนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยองค์ความรู้ ศักยภาพ
ทรัพยากรของหน่วยงานภาคีความร่วมมือ
4.เพื่อปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจน
ที่เหมาะสม ด้วยรูปแบบการพัฒนา “พัทลุงโมเดล”
รศ.ดร.วิชัย ชำนิ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่มีความมุ่งมั่นและเห็นความสำคัญในการร่วมกันพัฒนาแบบยึดพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม โอกาสการเข้าถึงทรัพยากรทางสังคมและการตอบสนองเชิงนโยบายการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบกับทางมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อดำเนินการโครงการวิจัยภายใต้โครงการริเริ่มสำคัญ (Flagship Project) ปีงบประมาณ 2564 เรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำในจังหวัดพัทลุง” และเพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมหาวิทยาลัยทักษิณร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดพัทลุง จึงกำหนดจัดพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาเชิงพื้นที่และการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดพัทลุงขึ้นในวันนี้ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผอ.บพท. กล่าวว่า แผนงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำเกิดจากนโยบายขับเคลื่อนไทยจากนายกรัฐมนตรี โดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.มอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยพัฒนาพื้นที่เข้าไปแก้ปัญหาความยากจนซึ่งเป็นรากของความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับกลไกความร่วมมือระดับจังหวัด โดยการตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อคือ คนจนที่แท้จริงในพื้นที่เป็นใครอยู่ที่ไหน จนด้วยสาเหตุอะไรและจะใช้ทุนเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไร นำไปสู่แผนการแก้ปัญหาความยากจนระดับจังหวัดโดยกลไกแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดด้วยความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยและผู้ว่าราชการจังหวัดเป้าหมาย
รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดพัทลุงซึ่งขับเคลื่อนโครงการวิจัยร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง (ศจพ.จ.พัทลุง) ครอบคลุมหน่วยงาน 5 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคประชาชน โดยมีเป้าหมายมุ่งสู่ความสำเร็จ คือ คนจนในจังหวัดพัทลุง มีคุณภาพชีวิต มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ประชากรกลุ่มยากจนหลุดพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืนและสามารถเข้าถึงทรัพยากร การศึกษาสวัสดิการต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม
ด้าน รศ.ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยทักษิณ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ความยากจน (poverty) เป็นปัญหาของสังคมไทยที่มีมาช้านานมากกว่า 40 ปี จากรายงาน CS Global Wealth Report 2018 พบว่า ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงลำดับต้นๆ ของโลก โดยคนจนเป้าหมายในพัทลุง จาก TPMAP มีจำนวน 14,342 คน 3 อำเภอ คนจนเป้าหมายสูงสุด คือ อำเภอปากพะยูน (20.1%), เมืองพัทลุง (19.9%) และควนขนุน (16.2%) โครงการวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนาระบบค้นหาและสอบทานเพื่อช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalize Poverty Alleviation) ร่วมกับการรวบรวมข้อมูลคนจนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมในจังหวัดพัทลุง 2) พัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนจากการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต 3) วิเคราะห์รูปแบบของปัญหาคนจนกลุ่มเป้าหมายและนำไปสู่การสร้างโมเดลความช่วยเหลืออย่างเบ็ดเสร็จ แม่นยำและยั่งยืน 4) พัฒนาโมเดลแก้จน (Operating model) จัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มทักษะการดำรงชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในคนจนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดพัทลุง 5) สังเคราะห์ภาพรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเชื่อมโยงกับแผนจังหวัดพัทลุงและนำเข้าสู่การขับเคลื่อนเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัดพัทลุงอย่างยั่งยืน.