ม.อ.จัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา”
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 15 มี.ค. 2566, 18:30 น. อ่าน : 621 สงขลา -
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดย ศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก
คณะอุตสาหกรรมเกษตร ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์
จัดประชุมชี้แจงโครงการจัดทําระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย
(Internal Control) สินค้า “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา”
ภายใต้โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย
เพื่อให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพ
ทั้งกระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า
รวมทั้งผู้ผลิตและผู้ประกอบการที่ผ่านการตรวจสอบจะได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย โดยมี นายกองเอกพุทธ กฤชคงพันธุ์
รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธาน ผศ.ดร.เสาวคนธ์ วัฒนจันทร์
คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. กล่าวรายงาน พร้อมด้วย
คณะกรรมการและคณะทำงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
เจ้าหน้าที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ สมาชิกเกษตรกรผู้ผลิต
และผู้ประกอบการปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา เข้าร่วมงาน ณ
ห้องประชุมศูนย์บ่มเพาะคนดี สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ จังหวัดสงขลา
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66
ผศ.ดร.เสาวคนธ์
วัฒนจันทร์ คณบดีคณะอุตสาหกรรมเกษตร ม.อ. กล่าวว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญา
กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดยศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการส่งออก คณะอุตสาหกรรมเกษตร
ดำเนินโครงการจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Internal
Control) ในสินค้าปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วย ปลากะพงสด
ปลากะพงสดแช่แข็ง ปลากะพงเค็ม และหนังปลากะพงทอดกรอบ
โดยมีพื้นที่การเพาะเลี้ยงตั้งแต่ปากทะเลสาบสงขลาที่ติดกับทะเลอ่าวไทยเข้ามาถึงบริเวณปากรอ
ได้แก่ อำเภอเมืองสงขลา อำเภอหาดใหญ่ อำเภอบางกล่ำ อำเภอสิงหนคร และอำเภอควนเนียง
และพื้นที่การแปรรูป ครอบคลุมทุกอำเภอในจังหวัดสงขลา
ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ให้มีผลตั้งแต่วันยื่นคำขอขึ้นทะเบียนวันที่
26 สิงหาคม 2563 ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน 2565 เพื่อสร้างระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานให้ผลิตตามมาตรฐานที่ขึ้นทะเบียนไว้
เพื่อสร้างหลักเกณฑ์ด้านคุณภาพให้กับสินค้า GI สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้า
นอกจากนี้
เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้าเข้าสู่ระบบการควบคุมคุณภาพสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย
และนำตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยไปใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
กิจกรรมการประชุมชี้แจงดังกล่าว
มีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ผู้ผลิต
ผู้แปรรูป หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับฟังการชี้แจง ระดมสมอง
และหารือการจัดทำคู่มือระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า GI
“ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา”
ซึ่งประกอบไปด้วยแผนผังขั้นตอนการดำเนินงานตามระบบควบคุมคุณภาพ
คู่มือการปฏิบัติงานสำหรับสมาชิก แผนการควบคุมการตรวจสอบสินค้า ทั้งนี้
เพื่อให้สมาชิกผู้ผลิตและผู้ประกอบการค้า รวมถึงคณะทำงานนำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานที่จัดทำขึ้น
ไปใช้ในการปฏิบัติงานและการตรวจประเมินได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อีกทั้งกิจกรรมในวันนี้ยังจัดให้มีการรับสมัครเพื่อขึ้นทะเบียนสมาชิกผู้ผลิต
และผู้ประกอบการค้า ที่ประสงค์จะขอใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา
“การจัดทำระบบควบคุมคุณภาพและมาตรฐานสินค้า จะเป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นในด้านคุณภาพ กระบวนการผลิต และแหล่งที่มาของสินค้า ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล สามารถติดตราสัญลักษณ์ GI ไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของจังหวัดสงขลาต่อไป” ผศ.ดร.เสาวคนธ์ กล่าว
นายกองเอกพุทธ
กฤชคงพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า “ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา”
ถือเป็นปลาเศรษฐกิจ ที่มีคุณภาพและลักษณะพิเศษอันเป็นผลมาจากปัจจัยสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา
และยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย
หรือเรียกโดยทั่วไปว่าเป็น “สินค้า GI” ซึ่งการเป็นสินค้า
GI จำเป็นต้องมีระบบการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน กระบวนการผลิต
ตลอดจนแหล่งที่มาของสินค้า เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถรักษามาตรฐานตามที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา
และเป็นมาตรฐานที่ยอมรับได้ในระดับสากล โดยชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ
ร่วมกันจัดทำระบบควบคุมภายใน
ตั้งแต่ระดับผู้ผลิตและระดับพื้นที่ทั้งกระบวนการผลิตที่รับรองได้ว่าการผลิตสินค้าเป็นไปตามข้อกำหนดที่ขึ้นทะเบียนไว้
และสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าได้.