ม.อ. เปิดงาน “WORLD HAPEX ONLINE 2021” ยกระดับธุรกิจฮาลาลในยุคโควิด-19
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 7 ก.ย. 2564, 17:23 น. อ่าน : 2,357 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย สถาบันฮาลาล จัดงานแสดงสินค้าและการประชุมวิชาการนานาชาติด้านฮาลาลออนไลน์ 2564
(WORLD
HAPEX ONLINE 2021) ระหว่างวันที่ 26-27 สิงหาคม 2564
เพื่อเปิดโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจด้านสินค้าและบริการฮาลาลในยุคโควิด-19 กระตุ้นนักวิจัย นักวิชาการ ภาครัฐ
และผู้ประกอบการฮาลาลให้รับรู้แนวทางการจัดการธุรกิจรูปแบบใหม่
เพื่อพัฒนาธุรกิจฮาลาลในยุคโควิด-19 โดยมี รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และประธานฝ่ายกิจการฮาลาล
กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวต้อนรับ ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี
ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล ม.อ. กล่าวรายงาน เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2564 ถ่ายทอดสดผ่านเพจ
: World HAPEX
รศ.ดร.อิสมาแอ อาลี กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ประเทศไทยต้องแสวงหาตลาดใหม่ๆ
สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อสร้างโอกาสในวิกฤติ ซึ่งตลาดฮาลาลเป็นตลาดในอนาคต
ในปี 2563 ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั่วโลก มีมูลค่าสูง 48 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ
20% คิดเป็นมูลค่าเพิ่มปีละ 16.8 ล้านล้านบาท และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นเป็น
68 ล้านล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า และจะเติบโตยิ่งขึ้น การจัดงานในครั้งนี้
จะทำให้ 5 จังหวัดชายแดนใต้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าและบริการฮาลาลที่สามารถป้อนสู่ประเทศมุสลิมทั่วโลก
ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ
แก้วประดับ กล่าวว่า “ฮาลาล” เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ภาคใต้
และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีศักยภาพสูงในการสร้างโอกาส
เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในประเทศ พร้อมกับการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน
ปัจจุบันประชากรมุสลิมมีจำนวนกว่า 2,000 ล้านคนของประชากรโลก
ตลาดอาหารฮาลาลจึงเป็นตลาดขนาดใหญ่และมีกำลังซื้อสูง
โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของโลก
และปัจจุบันไทยมีบริษัทที่ได้รับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลประมาณ 5,000 บริษัท
มีผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองฮาลาลมากกว่า 160,000 รายการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เล็งเห็นถึงความสำคัญและศักยภาพสินค้าฮาลาล มีสถาบันฮาลาลเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านฮาลาลมาอย่างต่อเนื่อง การจัดงานแสดงสินค้าและการประชุมสัมมนานานาชาติด้านฮาลาล 2564 ในรูปแบบออนไลน์ (Online) ในครั้งนี้ เป็นการกระตุ้นกำลังซื้อจากผู้บริโภคชาวมุสลิมในสถานการณ์โควิด-19 และยังเป็นการเตรียมความพร้อมเปิดตลาดทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ของสินค้าฮาลาลในอนาคตอีกด้วย
ขณะที่ ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี กล่าวว่า งานในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “ฮาลาลไทยในยุค COVID-19 : โอกาสและความท้าทาย (Halal Thailand in COVID-19 : Opportunities and Challenges)” ภายในงานประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ
อาทิ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันฮาลาลกับสถาบันวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์
(MOU) การปาฐกถาพิเศษ “ฮาลาลไทยในยุค COVID-19 : โอกาสและความท้าทาย การเสวนา
“บทบาทของหน่วยงานด้านฮาลาลในสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 :
โอกาสและความท้าทาย” ทั้งภาคภาษาอังกฤษและภาคภาษาอาหรับ การเสวนา
“มาตรฐานตอยยีบันเพื่อสุขภาพและโภชนาการในมุมมองของอิสลามและวิทยาศาสตร์การแพทย์”
การบรรยาย “แนวทางการรับรองมาตรฐานฮาลาลในยุค COVID - 19”
การเสวนา “การปรับกลยุทธ์ทางการตลาดในยุค COVID-19”
การเสวนา “หลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล เรียน 4 เดือน จบแล้วมีงานทำ”
ตลอดจนการนำเสนอสินค้าออนไลน์จากกลุ่ม PSU HALAL Market ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า
900 ราย ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหาร
เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องแต่งกาย และบริการฮาลาลอีกด้วย.