สำนักเครื่องมือวิทย์ ม.อ. ไม่ยืนยันข่าวผลตรวจสอบอ้วกวาฬ
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 20 ต.ค. 2564, 17:41 น. อ่าน : 1,351รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวในสื่อมวลชนเมื่อเดือนกันยายนว่า มีชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้พบสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับ “อำพันทะเล” หรือ “อ้วกวาฬ” ซึ่งเป็นวัตถุที่มาจากการสำรอกหรือขับถ่ายจากวาฬหัวทุย มีองค์ประกอบของคลอเรสเตอรอล ไขมัน และสารประกอบอื่นที่เมื่อเก็บไว้นานจะมีกลิ่นหอม เป็นของหายากราคาแพงใช้เป็นวัตถุดิบหัวน้ำหอม และได้ส่งให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ตรวจพิสูจน์ โดยในข่าวระบุว่ามีการออกใบรับรองผลการพิสูจน์ว่าเป็นอ้วกวาฬจริงนั้น
สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบซึ่งเป็นหน่วยงานของมหาวิทยาลัยที่รับตรวจสอบตัวอย่างที่ผู้พบส่งมา
ขอแจ้งว่า
รายละเอียดในใบรายงานการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างจากการวิเคราะห์โดยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ได้ระบุผลการตรวจสอบว่าเป็นสารประกอบของ
“ไขมัน” เท่านั้น แต่ไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็น “อ้วกวาฬ” แต่อย่างใด
ส่วนก้อนไขมันดังกล่าวจะเป็นอำพันทะเล” หรือ “อ้วกวาฬ” หรือไม่นั้น
ผู้พบคงต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ได้ตรวจสอบโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง
ในการตรวจสอบสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบได้ใช้เครื่อง FOURIER TRANSFORM INFRARED SPECTROMETER ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์หาหมู่ฟังก์ชันของสารที่สกัดมาจากตัวอย่างที่ส่งมาทดสอบ โดยเป็นการวิเคราะห์เบื้องต้นไม่ได้วิเคราะห์เชิงลึกจนสามารถพิสูจน์สารสำคัญที่บ่งบอกและอ้างอิงได้ว่าเป็นอำพันทะเลหรือไม่ ซึ่งพบว่าไขมันเป็นสารที่มีปริมาณมากที่สุดในตัวอย่างที่ทดสอบ ทางสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์ฯ มีเครื่องมือประเภทอื่นที่สามารถวิเคราะห์สารที่เป็นองค์ประกอบที่หลากหลายและให้ข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความประสงค์ของเจ้าของตัวอย่าง แต่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลอ้างอิงและเทียบเคียงเพื่อยืนยัน และสิ่งที่สำคัญคือ เกณฑ์การพิจารณาของผู้ซื้อ แหล่งที่พบ และกลิ่น สี และลักษณะของเนื้อสารที่มีส่วนในการกำหนดราคาหากเป็นอำพันทะเลจริง ส่วนใบรับรองจากการวิเคราะห์องค์ประกอบอาจมีส่วนพิจารณาในการซื้อขายได้เช่นกัน
รศ.อาซีซัน แกสมาน กล่าวว่า เครื่อง FOURIER TRANSFORM INFRARED SPECTROMETER เป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ใช้วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีจากสารอินทรีย์ในตัวอย่างที่หลากหลาย ทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว เช่นสารสกัดสำคัญจากพืชเช่น สมุนไพร สารเคมีในกลุ่มสารอินทรีย์ ตรวจสารตกค้างจากผลิตภัณฑ์ และเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือจำนวนหลายร้อยรายการ ที่สำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ ให้บริการทดสอบทางวิทยาศาสตร์แก่หน่วยงานทั้งภายนอกและในมหาวิทยาลัย โดยเน้นด้านเคมีประยุกต์ การวิเคราะห์โครงสร้าง ชีวโมเลกุล การทดสอบยางและการเตรียมตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ มีผลการทดสอบที่ถูกต้อง เที่ยงตรงเชื่อถือได้ และมีความปลอดภัย โดยได้รับการตรวจประเมินจากหน่วยงานภายนอกจนได้รับการรับรอง มอก. 2677-2558 และ ISO 9001.
รศ.อาซีซัน แกสมาน ผู้อำนวยการสำนักเครื่องมือวิทยาศาสตร์และการทดสอบ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์