ม.อ.สำรวจพบ “มดยักษ์ปักษ์ใต้หรือมดไม้ยักษ์” บริเวณเขาคอหงส์
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 1 พ.ค. 2564, 14:45 น. อ่าน : 2,088 ดร.อับดุลเลาะ
ซาเมาะ นักวิจัย ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มดตะลานยักษ์ปักษ์ใต้หรือมดไม้ยักษ์
มีชื่อสามัญ : The Giant Forest Ant, และมีชื่อวิทยาศาสตร์
: Dinomyrmex gigas Latreille, 1802
เป็นมดขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย (ประมาณ 20.9 มิลลิเมตร สำหรับวรรณะงาน และ 28.1
มิลลิเมตร สำหรับวรรณะทหาร) และจัดเป็นมดประจำถิ่น (native) ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์
มีเขตกระจายพันธุ์ในหลายประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์
ในประเทศไทยพบแพร่กระจายเฉพาะในภาคใต้เท่านั้น
ตั้งแต่จังหวัดสุราษฏร์ธานีลงไปจนถึงสุดคาบสมุทรมลายู
มดยักษ์ปักษ์ใต้
ลำตัวมีเอกลักษณ์เฉพาะ ส่วนหัวและส่วนอกมีสีดำ ในขณะที่บริเวณส่วนท้องมีสีน้ำตาลอมแดง มีเอว 1 ปล้องสังเกตเห็นได้ชัด
มดงานมีขนาดและรูปร่างหลายรูปแบบ (polymorphism) มดชนิดนี้มีความว่องไวเป็นพิเศษในเวลากลางคืน (nocturnal insect) จะบริโภคอาหารหลากหลายรูปแบบ เช่น น้ำหวาน แมลงขนาดเล็ก มูลเหลวของนก
เป็นต้น
พบมากตามบริเวณพื้นป่าจนถึงระดับไม้เรือนยอดในพื้นที่มีความชื้นค่อนข้างสูงและมีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ต่ำ
จากการศึกษาของ Pfeiffer
และ Linsenmair ในปี ค.ศ.2001
ได้รายงานเพิ่มเติมว่า
มดไม้ยักษ์จะมีพฤติกรรมครอบครองอาณาเขตและแก่งแย่งแข่งขันระหว่างชนิดและภายในชนิด
และที่น่าทึ่งกว่านี้มดไม้ยักษ์สามารถยกวัตถุหรืออาหารที่หนักกว่าน้ำหนักตัวมันเองถึง
50 เท่า
ดร.อับดุลเลาะ
กล่าวต่ออีกว่า บริเวณพื้นที่เขาคอหงส์ เป็นเขาลูกโดดและป่ารุ่นสองที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจ นักวิจัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้สำรวจพบมดยักษ์ปักษ์ใต้ขนาดใหญ่ในพื้นที่ป่าบริเวณเขาคอหงส์บ่อยครั้ง
แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้เขาคอหงส์จะเป็นผืนป่าขนาดเล็กๆ ในเมือง
แต่กลับเป็นบ้านหลังใหญ่โตที่อุดมสมบูรณ์ให้กับมดเฉพาะถิ่นชนิดนี้ได้เป็นอย่างดี
“สำหรับพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา
50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา โดยเฉพาะชั้นสองของส่วนจัดแสดง
มีการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกและสิ่งชีวิตอีกนานาชนิดที่พบเจอบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย
ทั้งนี้ประมาณกลางเดือนสิงหาคมนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จะมีการจัดนิทรรศการหมุนเวียนเรื่องใหม่
เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเรืองแสง (Bioluminescent) หากท่านใดสนใจเกี่ยวกับหัวข้อดังกล่าวสามารถเข้ามาชมได้”
ดร.อับดุลเลาะ กล่าว
พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้บริการตั้งแต่วันอังคาร - วันเสาร์ เวลา 9.00-16.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ โทร. 0-7428-8067-8 เว็บไซต์ https://nhm.psu.ac.th/ แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทางพิพิธภัณฑ์ฯ ปิดให้บริการในส่วนของนิทรรศการชั่วคราว และจะประกาศวันเปิดให้บริการอีกครั้งภายหลัง.
ดร.อับดุลเลาะ ซาเมาะ นักวิจัย ประจำพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยา 50 พรรษา สยามบรมราชกุมารีฯ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์