ม.อ. แจงผลงานวิจัยโควิด-19 จากแมวสู่คนที่คาดว่าออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก!
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป, การศึกษา,
โฟสเมื่อ : 21 มิ.ย. 2565, 17:19 น. อ่าน : 2,093 สงขลา - ทีมวิจัย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) แจงผลงานวิจัยโควิด-19 จากแมวสู่คน
ที่คาดว่าออกมาเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก
พบติดเชื้อมาจากเจ้าของที่คลุกคลีใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง
และแมวได้จามใส่สัตวแพทย์ที่ตรวจหาเชื้อแมวอีกคน ระบุเกิดขึ้นได้น้อยมาก
พร้อมฝากเตือนไปยังคนรักสัตว์หากสงสัยจะเป็นโควิด-19
ให้อยู่ห่างสัตว์เลี้ยงไปก่อนจนกว่าจะปลอดภัย และขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
ไม่ใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูและ หรือทิ้งขว้างสัตว์เลี้ยงของตนเอง
จากกรณีที่ทางสำนักข่าวต่างประเทศคือ
The
New York Times ได้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยของประเทศไทย
โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2565
ที่ผ่านมา ผ่านวารสาร Emerging Infectious Diseases ของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ
(CDC) โดยระบุว่า
ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่พบการติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งคาดว่า
เป็นการติดจากแมวสู่คนเป็นครั้งแรกของโลกนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่
20 มิ.ย.2565 ที่ห้องประชุม 201 ชั้น 2 โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (ม.อ.) อ.หาดใหญ่
จ.สงขลา ทาง รศ.ดร.นพ.ศรัญญู ชูศรี ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายโรงพยาบาลฯ
และเป็นหนึ่งในทีมวิจัยเรื่องดังกล่าว ได้แถลงในรายละเอียด โดยเปิดเผยว่า
เคสนี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือน ส.ค.2564 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยโควิด-19
เป็นพ่อลูกชาวกรุงเทพฯ อายุ 64 ปี และ 32 ปี แต่เตียงมีไม่พอที่รักษา
จึงประสานที่จะเดินทางมารักษายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์
เนื่องจากมีญาติอยู่ที่หาดใหญ่ด้วย และเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวกันมา 2 คน พ่อลูก
พร้อมกับแมวที่เลี้ยงเอาไว้ด้วย 1 ตัว เป็นแมวไทย สีส้ม อายุ 10 ปี
จากนั้นในวันที่ 8
ส.ค.2564 จึงมีการนำตัวผู้ป่วยโควิด-19 ทั้ง 2 คน
เข้าสู่กระบวนการรักษาในหอผู้ป่วยโควิด-19 ของ ม.อ.
ส่วนแมวนั้นได้มีการส่งไปให้ทางสัตวแพทย์ของโรงพยาบาลสัตว์ทำการตรวจหาดเชื้อโควิด-19
ด้วยเช่นกันในวันที่ 10 ส.ค.2564 โดยการแยงจมูกและตรวจทวารหนัก
โดยสัตว์แพทย์และทีมงานรวม 3 คน แต่ปรากฏว่า ในระหว่างทำการตรวจอยู่นั้น
แมวได้เกิดจามออกมาในช่วงที่กำลังเก็บสิ่งส่งตรวจ และโดนสัตวแพทย์หญิงท่านหนึ่ง
อายุ 32 ปี ซึ่งในขณะนั้นสวมเครื่องป้องกันแค่ถุงมือ และหน้ากากอนามัย เท่านั้น
แต่ไม่มี face shield หรืออุปกรณ์ป้องกันดวงตาแต่อย่างใด
ซึ่งหลังจากนั้นผลตรวจของแมวพบว่า
เป็นบวก มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ส่วนสัตวแพทย์ท่านนี้หลังจากตรวจแมวได้ 3
วัน ในวันที่ 13 ส.ค.2564 ก็เริ่มมีอากรไข้ ไอ และน้ำมูก และในวันที่ 15 ส.ค.2565 ก็ตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยทั้งหมดทั้งคู่พ่อลูก แมว
และสัตวแพทย์ อาการไม่หนักมาก และสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังรักษาตัวอยู่เกือบ
10 วัน ราวปลายเดือน ส.ค.2564 และจากการติดตามทั้งคนและแมวปลอดภัย แข็งแรงดี
ไม่มีอาการข้างเคียง หรือโรคแทรกซ้อนแต่อย่างใด
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู
เปิดเผยอีกว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นได้มีตั้งสมมติฐานว่าเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น
แพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร เนื่องจากมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก
โดยพบความเชื่อมโยงอยู่ 2 อย่างคือ ระยะการฟักตัวของโรค โดยในคนเชื่อจะอยู่ได้ราว
1 สัปดาห์ ในสัตว์ประมาณ 5 วัน ซึ่งมีความสัมพันธ์กันตามช่วงเวลา และอีกส่วนคือการตรวจลำดับเบส และรหัสพันธุกรรม จากทั้งคู่พ่อลูกเจ้าของแมว แมว และสัตว์แพทย์
พบว่าตรงกัน นอกจากนี้ยังมีการตรวจเทียบเคียงกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
คลัสเตอร์ใหญ่ๆ หลายจุดใน จ.สงขลา เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่า แมวอาจรับเชื้อมาจากชุมชนหรือแหล่งอื่นหรือไม่
แต่พบว่าไม่ตรงกัน
จึงได้ข้อสรุปว่า
แมวนั้นติดเชื้อโควิด-19 มาจากเจ้าของที่คลุกคลีกันมาตลอด
และเจ้าของเองก็ไม่ทราบว่าแมวนั้นติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว
ก่อนที่จะแพร่เชื้อไปยังสัตวแพทย์ที่ทำกาตรวจ เนื่องจากแมวได้จามออกมาใส่โดยตรง
ซึ่งสัตวแพทย์ไม่ได้สวมเครื่องป้องกันทั้ง face shield และเครื่องป้องกันดวงตา จึงรับเชื้อเข้าไปเต็มๆ ส่วนทีมงานอีก 2 คน
นั้นปลอดภัยเนื่องจากไม่ได้อยู่ใกล้
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยการแพร่เชื้อโควิด-19 จากคนไปสู่สัตว์เลี้ยงในต่างประเทศมาบ้างแล้ว แต่การแพร่เชื้อจากสัตว์เลี้ยงคือแมวไปสู่คนนั้น เคสนี้น่าจะเป็นเคสแรกที่มีการนำเสนอออกมาเป็นงานวิจัย และมีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่มีสัตว์เลี้ยง เช่น หมา แมว นั้น หากสงสัยว่าตนเองอาจะตกเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือคาดว่าได้รับเชื้อโควิด-19 ให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลี หรืออยู่ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงไปก่อนประมาณ 7-8 วัน เพื่อความปลอดภัย เพราะ สัตว์เลี้ยงเมื่อได้รับเชื้อโควิด-19 แล้วนั้น ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการใดๆ และเชื้อจะมีระยะฟักตัวอยู่น้อยกว่าคนราว 5 วัน และหายไปเองได้ และการที่สัตว์เลี้ยงจะแพร่เชื้อไปสู่คนนั้นก็ยากมาก หรือน้อยมากเช่นเดียวกัน เพราะ ส่วนใหญ่จะมาจากการไอ จาม น้ำมูก และอุจจาระ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น้อยมากๆ ที่คนจะได้สัมผัส และเมื่อสัมผัสส่วนใหญ่ก็ล้างทำความสะอาดกันในทันทีอยู่แล้วด้วย
รศ.ดร.นพ.ศรัญญู กล่าวทิ้งท้ายว่า งานวิจัยดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 ที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง แต่ยังถือว่าพบได้น้อยมาก แค่ขอให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง และอย่าใช้เรื่องเหล่านี้เป็นข้ออ้างในการไม่ดูแลสัตว์เลี้ยง หรือเอาสัตว์เลี้ยงไปปล่อย เพราะความเข้าใจผิดๆ ส่วนการจะมี หรือผลิตวัคซีน เพื่อใช้สำหรับป้องกันโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงหรือไม่นั้น ทางทีมวิจัยไม่ได้มีข้อมูลในส่วนนี้ แต่หากพบการระบาดในสัตว์เลี้ยงเป็นวงกว้าง ทางภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก็อาจจะเป็นผู้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป.