ม.อ. จับมือ ทน.หาดใหญ่ และ สสส. พัฒนาเมืองหาดใหญ่สู่เมืองแห่งสุขภาวะ
หมวดหมู่ : สงขลา, ทั่วไป,
โฟสเมื่อ : 10 ก.ย. 2564, 15:31 น. อ่าน : 1,398 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
โดย คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับ เทศบาลนครหาดใหญ่
และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาเมืองหาดใหญ่สู่ความเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ
เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และจัดระบบบริการสุขภาพของชุมชนเมือง โดยมี รศ.ดร.นงนุช บุญยัง คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี
นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ นางสาววโรชา ศรีเจริญ
ผู้จัดการศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อจัดการเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมลงนาม นายสมพร ใช้บางยาง
ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ นายบรรจง ร่มสงฆ์
ที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ ผศ.ดร.จารุวรรณ กฤตย์ประชา
รองคณบดีฝ่ายวิชาการ วิเทศสัมพันธ์และนวัตกรรม คณะพยาบาลศาสตร์
ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อวันที่ 9
ก.ย. 2564
รศ.ดร.นงนุช บุญยัง กล่าวว่า คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์พันธกิจเป็นสถาบันการศึกษาพยาบาลชั้นนำระดับสากล
สร้างนวัตกรรมเพื่อการดูแลต่อเนื่อง ครอบคลุมการดูแลต่อเนื่องทุกช่วงวัย
ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวัยสูงอายุ preaging การนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการดูแลและรองรับสังคมสูงวัย
มีการดำเนินการของศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้สูงวัย (Center of Excellence in
Geriatrics) ดำเนินการด้านวิจัย บริการวิชาการ
และบูรณาการกับการเรียนการสอนในการส่งเสริม ป้องกัน คัดกรอง ฟื้นฟู เสริมระบบบริการภาครัฐ
เสริมประสิทธิภาพในการฟื้นฟูสภาพ เพิ่มคุณภาพชีวิต
มีการผลิตบุคลากรที่มีความสามารถต่อเนื่อง ระบบฐานข้อมูลรองรับการดูแลต่อเนื่อง (Continuous
care) ระบบริการแบบไร้รอยต่อ (Seamless Care) และมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม
เข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
พล.ต.ท.สาคร ทองมุณี กล่าวว่า ยินดีที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นถึงโอกาสของความร่วมมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่ ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน และนวัตกรรมเพื่อการเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน รองรับสังคมสูงวัย และพัฒนาสมรรถนะบุคลากรและเครือข่ายชุมชนของเทศบาลนครหาดใหญ่ในการดูแลสุขภาพประชาชน ตลอดจนร่วมพัฒนาชุมชนต้นแบบในการจัดการระบบสุขภาพของชุมชนเมือง
นางสาววโรชา
ศรีเจริญ กล่าวว่า สำนัก 3
ได้สร้างองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งในรูปแบบของเครื่องมือทางวิชาการ คู่มือประกอบการทำงาน
การพัฒนาระบบข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ (RECAP และ TCNAP)
และมีหลักสูตรในการพัฒนาผู้นำชุมชนท้องถิ่น
มีเครือข่ายนักสร้างเสริมสุขภาวะชุมชนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์สูง
เครือข่ายนักวิชาการที่มีทักษะในการทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น และ อปท.เครือข่าย
ตลอดจนการสนับสนุนสถาบันวิชาการให้เป็นคู่ความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นในการสร้างเครื่องมือที่จำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาพโดยชุมชนท้องถิ่น
และการขยายผลผ่านงานทางวิชาการ สสส. โดย สำนัก 3
จึงเห็นโอกาสในการร่วมมือกับเทศบาลนครหาดใหญ่และคณะพยาบาลศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
และนวัตกรรมเพื่อการเป็นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน รองรับสังคมสูงวัย
และยกระดับเทศบาลนครหาดใหญ่เป็น “ศูนย์เรียนรู้การจัดการสุขภาวะชุมชน เขตเมือง”
ต่อไป.