สสส.นำร่อง 5 จว.ขับเคลื่อน“คนสร้างสุขภาคใต้” ฟื้นวิกฤติโควิด-19
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 16 พ.ค. 2565, 22:35 น. อ่าน : 860กรุงเทพฯ-สสส. ฟื้นวิกฤตโควิด-19 คนใต้ หนุนทางรอดสร้างแหล่งอาหารปลอดภัย-เสริมทักษะอาชีพ นำร่อง 15 พื้นที่ ใน 5 จังหวัดติดเชื้อสูง เน้นช่วยคนตกงาน-รายได้น้อย พร้อมส่งทีมพี่เลี้ยง ‘คนสร้างสุขภาคใต้’ สอนทักษะทำเกษตร-ทำฟาร์มไก่ไข่-เปิดครัวกลาง-ปรุงเมนูสุขภาพ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ครอบคลุม 14 จังหวัดภาคใต้
นางเข็มเพชร เลนะพันธ์ รักษาการผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักสร้างสรรค์โอกาส สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 สร้างผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทั่วประเทศ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด พบจังหวัดทางภาคใต้ติดอันดับถึง 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปัตตานี และยะลา รวมผู้ป่วยสะสมกว่า 1 หมื่นคน ที่น่าห่วงคือ เศรษฐกิจในพื้นที่หยุดชะงัก คนว่างงานจำนวนมาก ทั้งชาวไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยเฉพาะในกลุ่มรับจ้างรายวันที่ถูกเลิกจ้างจากประเทศมาเลเซีย ทั้งทำงานโรงแรม โรงงาน ร้านค้าที่ไม่มีเงินสำรองเลี้ยงชีพ ทำให้กระทบต่อรายได้และความเป็นอยู่ของครัวเรือน สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ มุ่งสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนลดภาระค่าใช้จ่ายช่วยบรรเทาทุกข์ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สาม
นางเข็มเพชร กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ ได้นำร่องใน 5 จังหวัด 15 พื้นที่ ได้แก่ สงขลา 3 พื้นที่ ปัตตานี 3 พื้นที่ ยะลา3 พื้นที่ นราธิวาส 3 พื้นที่ และสตูล 3 พื้นที่ มุ่งสร้างอาชีพและสร้างรายได้ พร้อมสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่ถือเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตสุขภาวะให้กับคนในชุมชน โดยมีทีมคนสร้างสุขภาคใต้เข้าไปเป็นพี่เลี้ยงสอนให้ชุมชนมีทักษะการทำเกษตร สร้างแหล่งผลิตอาหารด้วยตัวเองเพื่อลดรายจ่ายรายวัน รวมถึงสร้างอาชีพพึ่งพาตัวเอง ขณะนี้มีคนในชุมชนเข้าร่วมเป็นแกนนำในโครงการฯ แล้วทั้งสิ้นกว่า 300 คน โดยภายในปีนี้ตั้งเป้าหมายจะขยายพื้นที่เพื่อกระจายความมั่นคงด้านอาหารไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้
ด้านนายสุวิทย์ หมาดอะดำ ผู้จัดการโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะจังหวัดภาคใต้ สสส. กล่าวว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถประเมินระยะเวลากลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ การผลิตอาหารของคนในชุมชนภาคใต้มีเป็นทุนเดิม เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูก ทำสวน และเลี้ยงสัตว์หลายชนิดจึงมีความถนัดที่หลากหลาย โครงการฯ ของ สสส. ช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนตระหนักถึงประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้คนในชุมชน โดยขั้นตอนการทำงานมีดังนี้ 1.ทีมพี่เลี้ยงร่วมกับแกนนำชุมชนจัดหาพื้นที่โล่งกว้างที่เหมาะสมจะใช้เป็นแหล่งผลิตอาหารสำหรับคนในพื้นที่2.อบรมทักษะทางการเกษตร เน้นการปลูกผักปลอดสารพิษ ฟาร์มไก่ไข่ เลี้ยงปลา และ 3.จัดหาแกนนำทำหน้าที่คอยดูแลบริหารจัดการแหล่งอาหารชุมชนให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว
“ความสำเร็จของโครงการฯ มาจากความร่วมมือของคนในพื้นที่ เช่น แกนนำชุมชนในเทศบาลเมืองปาดังเบซาร์ 8 ชุมชน ปรับพื้นที่สถาบันปอเนาะอัรฉาดียะฮ์ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เนื้อที่กว่า 10 ไร่ เป็นแปลงผักเกษตรปลอดสารเคมี ฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ พร้อมจัดสร้างครัวกลางผลิตอาหารปลอดภัยสำหรับบริโภคในชุมชน โดยมีเด็กนักเรียน 30 คน ทำหน้าที่บริหารจัดการฟาร์ม ขณะเดียวกันภาพความสำเร็จยังเห็นได้จาก ชุมชนบ้านสันติ ต.สุคิรินอ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 30 ครัวเรือน ร่วมปลูกผักปลอดสารเคมี เลี้ยงปลา ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่สามารถสร้างเครือข่ายความร่วมมือเรื่องความมั่นคงทางอาหารในระดับจังหวัดได้สำเร็จ จนเกิดเป็นต้นแบบ“เกษตรสันติ พึ่งพาตนเอง” พื้นที่ศึกษาดูงาน สำหรับชุมชนรอบข้าง ซึ่งนอกจากสร้างความมั่นคงทางอาหารในชุมชนและช่วยลดรายจ่ายแล้ว ยังถือเป็นการเสริมทักษะอาชีพทางการเกษตรรับความเสี่ยงช่วยให้อยู่รอดในทุกวิกฤต ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามและติดตามได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ สร้างสุขภาคใต้” นายสุวิทย์ กล่าว