สิ่งแวดล้อมของสังคมพิการ จุดประกาย...ขับเคลื่อนกลไกเอื้อชีวิตผู้พิการ
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 1 พ.ค. 2566, 08:00 น. อ่าน : 521 “วิธีการส่งเสียงที่ดีที่สุด
คือการสร้างความเป็นเพื่อน ระหว่างคนพิการและไม่พิการ
ก่อนที่ผมจะมาทำเรื่องคนพิการ ผมไม่เคยสนใจเรื่องคนพิการ
แม้ว่าจะเห็นเขามาประท้วงเรียกร้องสิทธิต่างๆ เพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของเรา
แต่วันหนึ่งเรามีเพื่อนเป็นคนพิการสักคน
เราจะรู้สึกว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นกับเพื่อนเรา”
เสียงบอกเล่าที่ทรงพลังของ
นายฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ประธานมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม ผู้ได้รับรางวัล
บุคคลขวัญใจประชากรเฉพาะกลุ่ม ในงาน “VOV Award” การประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2
เพราะ“ไม่ถูกเลือก”
จึงจุดประกาย
“ต่อ หรือ ฉัตรชัย”
ชายผู้อุทิศตนให้กับผู้พิการ ได้เล่าย้อนกลับไปถึงตอนที่กำลังเรียนอยู่ว่า
ตนเป็นเด็กเนิร์ดที่เพื่อนๆ ก็หวังลอกการบ้าน แต่กลับกันคือ ไม่เก่งกีฬา
ทำให้ถูกผลักไปอยู่ในลำดับท้ายๆ ที่เพื่อนจะชวนไปเล่นด้วยกัน
ทำให้ตนเข้าใจถึงความรู้สึก “การไม่ถูกเลือก” เหตุการณ์นี้สร้างบาดแผลในใจ
แต่ก็ทำให้กลับมานึกถึงผู้พิการที่มักจะเป็นตัวเลือกสุดท้ายของสังคม
จนตัดสินใจสมัครเป็นจิตอาสา ที่โรงเรียนสอนคนตาบอด กรุงเทพมหานคร เมื่อ 15 ปีก่อน
ตนได้คลุกคลีกับผู้พิการทางสายตาที่ทำให้
เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ความบกพร่องทางร่างกาย
แต่เป็นเรื่องอุปกรณ์การเรียนการสอน สำหรับผู้พิการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ขณะที่การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญมากโดยเฉพาะในผู้พิการ
จะเกี่ยวข้องกับโอกาสในชีวิตที่จะเกิดขึ้นด้วย
จึงเป็นที่มาของการทำอุปกรณ์เพื่อผู้พิการทางสายตาอันแรก คือ “เล่นเส้น” จากความเชื่อแม้จะตามองไม่เห็น
แต่ไม่ได้แปลว่าวาดรูปไม่ได้ ออกแบบให้การวาดรูปแบบเป็นเส้นนูน
เรียนรู้ผ่านการสัมผัสด้วยมือแทนดวงตา ทำให้เด็กๆ วาดรูป เรียนศิลปะ
หรือแม้กระทั่งเรียนคณิตศาสตร์ได้
สภาพแวดล้อมที่พิการไม่ใช่บุคคล
“ผมเปลี่ยนมุมมองความคิด
จริงๆ แล้วปัญหาความพิการไม่ใช่ปัญหาเชิงบุคคล แต่เป็นปัญญาเชิงสภาพแวดล้อม”
นายฉัตรชัย กล่าวพร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า
หากเราไปต่างประเทศแล้วพูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้
ก็ต้องใช้ภาษามือแทนเหมือนผู้พิการทางการได้ยิน หรือถ้าต้องอยู่ในห้องมืดสนิท
มองอะไรไม่เห็นนั่นก็ไม่ต่างจากผู้พิการทางสายตา ดังนั้น ปัญหาความพิการ
ไม่ได้แก้ที่ตัวบุคคล แต่ต้องปรับให้สภาพแวดล้อมรอบๆ เอื้ออำนวย
เพื่อให้ผู้พิการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้
อย่างไรก็ตาม
ได้สังเกตพบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้พิการทางสายตาคือ “ความอ้วน”
เนื่องจากการขยับร่างกายน้อยและขาดการออกกำลังกาย จึงได้ขอรับการสนับสนุนจาก สสส.
จัดกิจกรรมวิ่งสร้างประสบการณ์ร่วมกันระหว่างผู้พิการและผู้ที่ไม่ได้พิการขึ้นครั้งแรก
เมื่อปี 2559 ภายใต้ชื่อโครงการ “วิ่งด้วยกัน” ให้เราทุกคนเกิดความเป็นเพื่อนกัน
มีความเข้าใจกัน ตระหนักถึงผู้พิการมากขึ้น
ภูมิใจที่ได้ลงมือทำเพื่อสังคม
จนกระทั่ง 3 ปีก่อน
“มูลนิธิด้วยกัน”
ได้เกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิดสร้างความเป็นเพื่อนกับผู้พิการที่เราสามารถทำกิจกรรมด้วยกันได้
ที่มีสมาชิกมากกว่า 2,000 คนในปัจจุบัน นายฉัตรชัย ย้อนความถึงวิธีการส่งเสียงจากผู้พิการเพื่อให้สังคมได้ยิน
ว่า หากเรามองว่านั่นเป็นเสียงที่เกิดจากเพื่อนของเรา
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเพื่อนของเรา
ว่าทำไมเราถึงไปดูหนังกับเพื่อนที่พิการทางสายตาไม่ได้
ทำไมเราจะไปร้านอาหารกับเพื่อนที่พิการด้านการเคลื่อนไหวไม่ได้ เหล่านี้จะทำให้เราลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อเพื่อนของเรา
การสร้างความตระหนักรู้ในปัญหาของผู้พิการ คือ
การเป็นเพื่อน สิ่งนี้จะทำให้คนในสังคมนึกถึงผู้พิการเป็นลำดับแรกๆ
อย่างแอพพลิเคชั่น “พรรณนา”
ที่ตนออกแบบมาเพื่อให้ผู้พิการสามารถดูหนังได้โดยไม่ต้องเหมาโรงหนัง สามารถเข้าไปนั่งดูในแถวหน้าสุดได้โดยที่มีคนตาปกตินั่งอยู่ร่วมกัน
“สิ่งเหล่านี้ทำให้
ตัวเองภูมิใจที่ได้ลงมือทำอะไรเพื่อผู้พิการและเปลี่ยนให้สังคมสามารถอยู่ร่วมกับผู้พิการได้
อย่างโครงการวิ่งด้วยกัน ก็เป็นแนวคิดที่หลาย ๆ องค์กรนำไปปรับใช้ รวมถึงในต่างประเทศด้วย
ไม่ว่าจะบัลแกเรีย ประเทศในยุโรปและแอฟริกา” ฉัตรชัย กล่าว
สสส.ช่วยขับเคลื่อนงานได้เร็ว-รูปธรรม
นายฉัตรชัย
อธิบายถึงมุมมองของสังคมต่อประชากรกลุ่มเฉพาะที่ยังถูกมองเป็น “ภาระสังคม” ว่า
ที่เป็นภาระเพราะสังคมไม่เปิดโอกาสให้เขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
ไม่ได้ออกแบบสังคมมาให้รองรับกับประชากรกลุ่มเฉพาะนี้
ทว่าการแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่การไปเลี้ยงให้เขาอยู่ไปเรื่อยๆ
แต่ต้องเป็นการแก้ให้สังคมอยู่ร่วมกับเขาได้โดยที่ไม่เป็นภาระ
“เสียงที่สังคมได้ยินจากผู้พิการ
จริงๆ ทุกคนก็ร่วมกันแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ เพียงคุณนึกว่าหากจะทำอะไรซักอย่าง
ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้หรือไม่ รวมถึงคำนึงว่าถ้าคุณมีบริษัท
ผู้พิการทำงานร่วมกับคุณได้หรือไม่ ทำเพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
ไม่ต้องไปบริจาคเงิน เลี้ยงอาหารกลางวัน” นายฉัตรชัย กล่าว
ที่สำคัญการได้ทำงานร่วมกับ สสส. ซึ่งเป็นหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ดูแลเรื่องสุขภาพของสังคมอย่าง ทำให้แนวคิดของตนถูกขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วและเห็นเป็นรูปธรรม โดยตั้งแต่วิ่งด้วยกันครั้งแรกที่ได้ร่วมงานกับ สสส. ก็เป็นต้นแบบที่ทำให้งานวิ่งอื่นในประเทศ หันมาสนใจผู้พิการ และยังทำให้ผู้จัดกิจกรรมอื่นๆ ได้ออกแบบให้ทำด้วยกันได้
ท้ายที่สุด
“ฉัตรชัย” ย้ำว่า มูลนิธิด้วยกัน มีเป้าหมายตั้งขึ้นมาเพื่อ “ปิด”
เพราะตนต้องการให้สังคมสามารถขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับผู้พิการได้โดยไม่ต้องผ่านคนใดคนหนึ่ง
แต่ทุกคนร่วมกันขับเคลื่อนได้.