สสส. ชวนโหลด “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เตรียมพร้อมก่อนฉีดวัคซีน
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 1 มิ.ย. 2564, 06:00 น. อ่าน : 2,782 การรับวัคซีนโควิด-19
มีวิธีเตรียมตัวอย่างไร เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จัดการอย่างไร
ป่วยเป็นโรคอะไรบ้างที่รับวัคซีนได้ หรือ กลุ่มไหนที่รับวัคซีนไม่ได้
และลงทะเบียนรับวัคซีนได้ที่ไหน คำถามที่หลายคนสงสัย ที่สามารถค้นหาคำตอบได้ใน
“คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน”
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำ “คู่มือวัคซีนสู้โควิด ฉบับประชาชน” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีนด้วยข้อมูลที่ถูกต้องทางการแพทย์ และมีความรู้ที่เพียงพอในการตัดสินใจเข้ารับการฉีดวัคซีน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกถึงความพิเศษของคู่มือวัคซีนฯ ว่า คู่มือนี้มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ง่าย กระชับ ครอบคลุมเรื่องวัคซีนโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่เต็มไปด้วยปริศนามากมาย โดยถอดข้อมูลทางการแพทย์อันซับซ้อนออกมาอธิบาย ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการทำงานของวัคซีน ประสิทธิภาพ ไปถึงอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการฉีด อ่านแล้วลองถามตัวเองอีกครั้งว่า ยังกลัววัคซีนอยู่ไหม ที่สำคัญคู่มือฯ เขียนโดยผู้เชี่ยวชาญด่านหน้าตัวจริงที่รับมือวิกฤตโควิด-19 ทำให้ข้อมูลที่ออกมาน่าเชื่อถือมากที่สุด
“คู่มือฉบับนี้เป็นการรวบรวมแหล่งข้อมูลที่ครบทุกเรื่องเกี่ยวกับวัคซีน
ซึ่งประชาชนควรได้อ่านก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน ถือว่าเป็นข้อมูลที่เข้าใจง่าย
มีความน่าเชื่อถือ โดยจัดทำในรูปแบบรูปเล่มจำนวน 40,000 เล่ม ส่งให้หน่วยงานภาครัฐ
เอกชน โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่าย สสส. และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 3 ล้านครั้ง เพื่อให้คนในสังคมไทยได้เข้าถึงมากที่สุด
รวมถึงกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ยังได้นำคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ
ไปพัฒนาเป็นหนังสือเสียง และสื่อในรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับคนพิการแต่ละประเภทอีกด้วย”ดร.สุปรีดา
กล่าว
ดร.สุปรีดา
แนะนำด้วยว่า การฉีดวัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19
และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ให้กับสังคมไทย
อย่างไรก็ตามโจทย์สำคัญอีกประการคือ เราจะอยู่อย่างไรในช่วงที่โควิด-19
ยังคงอยู่กับสังคมไทย และสังคมโลกแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว เราจึงชวนให้คนไทยเข้าใจ New
Normal เน้นเรื่องชีวิตวิถีใหม่ซึ่งเป็นวิถีเดียวกับการที่เราจะมีสุขภาพดีขึ้นอย่างยั่งยืน
สำหรับชีวิตวิถีใหม่นั้น ไม่ใช่มิติของพฤติกรรมสุขภาพบุคคลเท่านั้น
แต่เป็นการพูดถึงสังคมโดยรวมคือตั้งแต่ระดับปัจเจกบุคคล ครอบครัว และสังคมชุมชน
รวมไปถึงเชิงระบบของประเทศทั้งระบบการศึกษา ระบบการแพทย์สาธารณสุข
ระบบขนส่งสาธารณะ ที่ต้องสมดุลทั้งเศรษฐกิจ สังคมสิ่งแวดล้อม แบ่งเป็น 2 ประเด็น
คือ 1.การมีสุขอนามัยที่ดี จะช่วยลดการแพร่เชื้อ คือการล้างมือ ใส่หน้ากาก
เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และ 2.การสร้างภูมิคุ้มกัน การกินที่ถูกหลักโภชนาการ
มีกิจกรรมทางกาย ไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
เหล่านี้จะช่วยสร้างสุขภาพให้มีภูมิต้านทานแข็งแรง
ดังนั้น
จากนี้ไปแม้คนไทย จะได้รับวัคซีนแล้ว
ก็ยังต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในชีวิตวิถีใหม่ พฤติกรรมเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคเหล่านี้
เป็นพฤติกรรมที่ควรจะต้องปฏิบัติคู่ขนานไปต่อเนื่องไปเพราะไม่เพียงช่วยป้องกันโควิด-19
เท่านั้น แต่ช่วยป้องกัน ลดความเสี่ยงจาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs
ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศได้อีกด้วย
หรือใครที่ยังลังเล กล้าๆ กลัวๆ การรับวัคซีนโควิด -19 อยู่ดี ลองพิจารณาข้อมูลจาก นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยไขปัญหาความคับข้องใจทั้งหมด ผ่านโครงการส่งเสริมความรู้เรื่องวัคซีนโควิด -19 จัดโดย สสส. และขบวนการคนตัว D เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนให้กับเครือข่ายสถานีวิทยุคนไทยหัวใจฟู
นพ.นคร
ชี้ให้เห็นว่า วัคซีน เป็นสิ่งที่เราๆ รู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ว่าช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ทุกคนในวัยเด็กต้องเคยผ่านประสบการณ์
ฉีดวัคซีนกันมาแล้ว แต่จะมีใครรู้ ถึงที่มาของวัคซีนเหมือนเรา ๆ ในยุคโควิดแบบนี้
เพราะได้รู้จักตั้งแต่จุดเริ่มต้น การพัฒนา
ไปจนถึงเวลาที่จะเริ่มฉีดกันอย่างแพร่หลาย
ทำให้คนในยุคนี้ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนไปโดยปริยาย
นพ.นคร บอกอีกว่า
สำหรับข้อห้ามการฉีดวัคซีนโควิด ปัจจุบันยังไม่มี ยกเว้น
คนที่มีประวัติการแพ้วัคซีนรุนแรงมาก่อน หรือ คนที่มีอาการภูมิแพ้ เช่น โรค SLE
หรือ มะเร็งที่อยู่ระหว่างการรับยาคีโม
ให้เว้นระยะช่วงที่มีอาการข้างเคียง ถึงค่อยรับวัคซีน
หรือแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ทำการรักษา พร้อมย้ำเป้าหมายการฉีดวัคซีน
เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสียชีวิต โดยวัคซีนทุกชนิดและยี่ห้อไม่มีความแตกต่างกัน
จึงไม่อยากให้เลือกหรือเกี่ยงงอนในการรับวัคซีน เพราะหากเทียบอัตราการป่วยตาย
ของโควิดพบจำนวนมากกว่า ไข้หวัดใหญ่ หลายเท่า
และหากปล่อยให้มีการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูง
อาจทำให้ระบบสาธารณสุขล่มสลาย ทำให้แพทย์ต้องเลือกการใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยบางคน
เหมือนที่ประเทศอิตาลีในอดีต หรืออินเดียในปัจจุบัน ส่วนสถานการณ์ในไทย
ต้องยอมรับเตียงผู้ป่วยวิกฤตหรือไอซียูในกทม. ใกล้จะเต็มแล้ว
นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนผลข้างเคียงจากวัคซีน สามารถเกิดขึ้น ในอดีตจนปัจจุบัน วัคซีนโปลิโอก็มีความเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอัมพาตในอัตรา 1 ต่อ 5 แสนคน ส่วนวัคซีนโควิด ทำให้เกิดข้างเคียง ใน 2 ลักษณะ 1.ลักษณะอาการข้างเคียงทั่วไป มีไข้ ปวด บวมแดง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ ทุกอย่างหายได้ใน 24-72 ชม. เกิดได้ประมาณ 30 % แต่ในวัคซีนบางชนิด mRNA ของไฟเซอร์ มีโอกาสเกิดได้ 60-70 % 2.ลักษณะอาการข้างเคียง ชนิดรุนแรง อย่างกรณี ซิโนเวค ที่มีรายงานพบ อาการชาแขนอ่อนแรงร่วม พบ 50 คน จากจำนวนผู้รับวัคซีน 1 ล้าน 5 แสนโดส หรือคิดเป็น 5 ใน 1 แสนประชากร เกือบครึ่งของคนที่มีอาการ สามารถหายเองได้ไม่ต้องให้การรักษา และ เมื่อทำการเอกซเรย์สมองก็ไม่พบพยาธิสภาพหรือรอยโรค ที่ทำให้แขนขาอ่อนแรงหรืออัมพฤกษ์อัมพาต องค์การอนามัยโลกเรียกว่า เป็นปฏิกิริยาของร่างกายเกิดจากการรับวัคซีน ซึ่งหายเองได้ เป็นอาการชั่วคราว เพียงให้ข้อแนะนำสังเกตอาการ หากอาการไม่ได้ขึ้นก็ให้การรักษาตามอาการ
ดังนั้นฉีดวัคซีนยังต้องควบคู่กับการป้องกันโรคส่วนบุคคล
ทั้งการสวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง
และแม้ว่าการรับวัคซีนจะเป็นเรื่องของความสมัครใจ
แต่ก็มีส่วนสำคัญในการช่วยยุติการระบาดของโควิด-19 ซึ่งหากทุกคนร่วมใจกันรับวัคซีน
ไทยก็มีโอกาสกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ในเร็ววัน
ทั้งนี้ สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อรับคู่มือวัคซีนสู้โควิดฯ ฉบับอิเล็กทรอนิกส์ หรือดาวน์โหลดได้ที่ http://ssss.network/2uq08 และติดตามข้อมูลเพิ่มได้ที่ www.thaihealth.or.thไทยรู้สู้โควิด.