“สูงวัย” เตรียมพร้อมก่อนเกษียณ เปลี่ยน 60 ปี ให้เป็นแค่ตัวเลข
หมวดหมู่ : ทั่วไป, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 16 มี.ค. 2566, 08:00 น. อ่าน : 547 เมื่อไม่นานมานี้
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีมอบรางวัล Voice
of the Voiceless Award (VOV AWARD) พร้อมประกาศเจตนารมณ์
“ก้าวต่อไปสู่สุขภาวะสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม” ในงานประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้
“เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ” ครั้งที่ 2
โดยหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุอย่างท่วมท้น
“การเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย...ฝึกลุก ล้มเป็น” โดย
สำนักงานประสานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย
(สป.สว)
สังคมผู้สูงวัย
ที่ไม่ใช่ปัญหาของคนสูงวัย เลิกขีดเส้นความ “แก่” ด้วยตัวเลข บอกเล่าโดย
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์พิเศษประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ว่า “สังคมผู้สูงวัย” ได้เกิดขึ้นมาในประเทศไทยระยะหนึ่งแล้ว
จะเห็นได้ว่าสังคมเรามีผู้สูงอายุใช้ชีวิตร่วมกับคนวัยหนุ่มสาวมากขึ้น
ประกอบกับเทคโนโลยีทำให้คนมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น ขณะที่ คนวัยทำงานต้องดูแลพ่อแม่
ปู่ย่า ตายายที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อปี พ.ศ.2513
ค่าเฉลี่ยของคนมีอายุเพียง 49-59 ปีแล้วตาย แต่ปัจจุบันค่าเฉลี่ยปรับขึ้นไปถึง 70
ปี เท่ากับว่าเรามีอายุยืนขึ้นอีก 20 ปี ทำให้เราเห็นคนวัย 70-80
ปีออกมาใช้ชีวิตในสังคมเป็นเรื่องปกติมาก ฉะนั้น คนที่จะรับภาระหนักที่สุดคือ
คนช่วงวัย 40 ปี ทั้งแง่การเสียภาษี ระบบสวัสดิการ ขณะเดียวกัน
คนรุ่นใหม่ก็มีลูกน้อยลง นับจากปีนี้เป็นต้นไปประชากรไทยจะลดลง
นอกจากนั้นแล้วเด็กที่เกิดส่วนใหญ่ก็เกิดจากคนที่ไม่ได้พร้อมจะมีลูก
เพราะคนพร้อมก็ไม่อยากมีลูก คำถามคือ คุณภาพชีวิตจะเป็นอย่างไร?
นี่จึงเป็นปัญหาที่หนักมาก ๆ ของสังคมไทย
“สังคมผู้วัย ไม่ใช่ปัญหาของผู้สูงอายุ แต่เป็นปัญหาของคนที่ยังไม่สูงอายุ โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว จึงย้อนกลับมาที่ผู้สูงอายุ หลักสำคัญคือทุกคนเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่เราต้องทำให้ตัวเองแก่ช้าที่สุด เจ็บสั้น ๆ แล้วค่อยตายทีเดียว ดังนั้น คำว่าแก่ต้องเลิกคิดเรื่องตัวเลข แต่ต้องใช้การตีความว่าเป็นผู้ที่พึ่งพาตัวเองไม่ได้ จึงถือว่าแก่ จึงนำมาสู่แนวคิดการพึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด” รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าว
เมื่อความแก่วัดด้วยตัวเลขไม่ได้ “คนเกษียณก็ไม่จำเป็นต้อง 60 ปี”
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ กล่าวว่า การพึ่งพาตัวเองในผู้สูงอายุคือ 1.การทำงาน สร้างรายได้ ท่ามกลางสังคมที่มีประชากรน้อยลงและที่มีอยู่ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้สูงอายุ ฉะนั้น ประเทศไทยต้องปรับวิธีคิดด้วยการขยายอายุการทำงาน คนไม่จำเป็นต้องเกษียณที่อายุ 60 ปี ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ต้องปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยี สร้างทักษะสำรองเพื่อชดเชยกับทักษะด้านพละกำลังที่ลดน้อยเรื่อย ๆ 2.มีเงินออม เพื่อให้มีเงินดูแลตัวเองในวันที่เราหยุดทำงานก่อนตาย ซึ่งกองทุนข้าราชการและประกันสังคม มีระบบหักเงินแต่ละเดือนไปเป็นเงินบำนาญ ให้เจ้าของเงินได้ใช้ยามแก่ แต่เราพบว่ามีคนไทยกว่า 20 ล้านคนที่เป็นแรงงานอิสระไม่ได้อยู่ในระบบดังกล่าวเลย ตนจึงนึกถึงการหักเงินบำนาญผ่านภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่แต่ละคนใช้จ่าย โดยรัฐจะต้องร่วมสมทบส่วนหนึ่งด้วย เพื่อให้ทุกคนมีบำนาญชีวิต และ 3.การพึ่งพาตัวเองในสภาพแวดล้อมที่เอื้อ หลายครั้งที่เราเห็นว่าสถานที่ต่าง ๆ ยังขาดการออกแบบที่เอื้อต่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ทำให้เกิดอุบัติผลักตกหกล้มสูง ซึ่งเรื่องนี้จะต้องเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ช่วยให้สิ่งแวดล้อมทางสังคมเอื้อต่อคนทุกกลุ่ม เพียงแค่ราวจับ พื้นกันลื่น ก็ช่วยให้ผู้สูงอายุรอดพ้นจากการสูญเสียสุขภาพและชีวิตได้
ทั้งนี้
รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ได้กล่าวถึงมิติของการดูแลผู้สูงอายุว่า มิติด้านสุขภาพ
เป็นสิ่งสำคัญของผู้สูงอายุและคนกลุ่มอื่น ๆ เช่นกัน
แต่บางกลุ่มอาการไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล ฉะนั้นแล้ว
ศูนย์ฟื้นฟูผู้ป่วยและผู้สูงอายุ (Intermediate Care) เป็นเรื่องที่เราต้องหันกลับมาคิด
เพื่อให้มีพื้นที่ตรงกลางระหว่างโรงพยาบาลกับบ้าน ส่งเสริมด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับ
มิติสังคมและชุมชน เราต้องทำให้วัด โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รพ.ชุมชน
ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ร่วมมือกัน
ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบชมรมผู้สูงอายุ สร้างชุมชนที่พร้อมรองรับผู้สูงอายุ.