อัดเละ! ไทยบริหารจัดการรังนกอีแอ่น แย่ที่สุดในโลก
หมวดหมู่ : เศรษฐกิจ, พัทลุง,
โฟสเมื่อ : 19 มิ.ย. 2564, 17:06 น. อ่าน : 2,048พัทลุง-นักวิจัยอิสระอัดเละหน่วยงานภาครัฐไม่มีความรู้เรื่องรังนกอีแอ่น ทำให้การบริหารจัดการแย่ที่สุดในโลก ด้าน”นิพิฏฐ์อินทรสมบัติ” เปรยเปรียบเทียบ “ แมวสีไหนก็ได้ขอให้จับหนูได้ “
กรณีคณะกรรมการรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุงได้ประกาศให้สัมปทานรังนกฯ เป็นเวลา 5 ปี หลังจากสัญญาการสัมปทานรังนกจะหมดลงในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 แต่หลังจากที่เปิดขายซองเอกสารการประมูลไป 3 ครั้ง ในราคา 500 ล้านบาทและราคา 450 ล้านบาทตามลำดับ ไม่มีผู้ยื่นประมูล จึงเปิดการขายซองเอกสารประมูลครั้งที่ 4 วงเงิน 450 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 8 – 21 มิถุนายน 2564 และกำหนดการยื่นซองในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ปรากฏว่ายังไม่มีผู้ใดมาซื้อซองเอกสารแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อตอนสายวันนี้ (19 มิ.ย.2564) ที่ห้องประชุมกาบบัว ศาลากลางจังหวัดพัทลุง นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธุ์ ผวจ.พัทลุง ในฐานะประธานกรรมการพิจารณาจัดเก็บอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง ได้เป็นประธานการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการบริหารจัดการและการสัมปทานเงินอากรรังนกอีแอ่นจังหวัดพัทลุง โดยมี ดร.พลกฤษณ์ คล้ายวิตภัทร ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายวิชาการและชุมชนสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เป็นวิทยากรเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว มีตัวแทนภาครัฐ เอกชน องค์กรชุมชน สื่อมวลชน ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 80 คน และในที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างหลากหลาย
นายเกษม จันทร์ดำ นักวิจัยอิสระ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ปัญหารังนกอีแอ่นของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากหน่วยงานภาครัฐไม่มีความรู้เรื่องรังนกฯ จนทำให้ประเทศไทยมีการบริหารจัดการรังนกฯที่แย่ที่สุดในโลก จึงเห็นสมควรให้ไปดูการบริหารจัดการในประเทศเวียตนาม เพื่อจะได้นำความรู้ ประสบการณ์มาแก้ปัญหารังนกในประเทศไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับประเทศจีนนั้นมีความต้องการรังนกประมาณ 3,000 ตัน/ปี โดยไม่สนใจว่าจะเป็นรังนกถ้ำหรือรังนกบ้าน ประเทศไทยมีผลผลิตรังนกจากถ้ำจาก 9 จังหวัดประมาณ 60 ตัน/ปี ส่วนรังนกบ้านมีประมาณ 150 ตัน/ปี ประเทศไทยนั้นเคยเป็นผู้ส่งรังนกออกจำหน่ายเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ในขณะนี้อันดับ 2 กลับเป็นมาเลเซียที่ส่งออกรังนกปีละ 400 – 500 ตัน/ปี ส่วนไทยมาเป็นอันดับ 3 ที่ส่งออกรังนกประมาณ 250 ตัน/ปี โดยมีประเทศอินโดนีเซียส่งออกรังนกเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ประมาณ 2,000 ตัน/ปี
นอกจากนี้ยังมีการส่งรังนกที่ผิดกฎหมายไปยังประเทศจีนประมาณ 400 ตัน/ปี ในส่วนของรังนกจากประเทศไทยนั้นเป็นรังนกที่แพงที่สุดของโลก ซึ่งในขณะนี้ปริมาณรังนกของจังหวัดต่างๆทั้ง 9 จังหวัดได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รังนกของจังหวัดพัทลุงกลับเพิ่มขึ้น แต่ก็มีปัญหาการสัมปทานรังนกจนนำไปสู่การส่งรังนกออกไปยังประเทศจีนได้น้อยเพียงประมาณ 0.3 ตัน/ปีเท่านั้น จึงสงสัยว่ารังนกของประเทศไทยหายไปไหน ส่วนของการแก้ไข พ.ร.บ.รังนกฯนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตรองหัวหน้าพรรค ปชป. เผยว่า ตนเคยเข้าไปแทรกแซงการสัมปทานรังนกเมื่อครั้งที่ผ่านมา จนทำให้ราคาสัมปทานพุ่งสูงขึ้นถึง 450 ล้านบาท ตนอยากเห็นทุกฝ่ายได้นำความรู้เรื่องรังนกมาเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการสัมปทานรังนก อย่าให้ความสำคัญของราคากลางจนเกินไป การสัมปทานรังนกฯในวิธีไหนก็ได้ที่ให้การสัมปทานรังนกฯสำเร็จลุล่วงโดยเร็วที่สุด โดยเปรียบ “จะเลี้ยงแมวสีไหนก็ได้แต่ขอให้จับหนูเป็น“ และขอให้ชาวพัทลุงทุกฝ่ายมาร่วมแก้ปัญหากับนายกู้เกียรติ ผวจ.พัทลุง เพื่อให้การสัมปทานรังนกสำเร็จเร็วที่สุด หากการสัมปทานล่าช้าจะส่งผลให้จังหวัด และประชาชนได้รับความเสียหาย
ส่วนนายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ. พัทลุง กล่าวว่า อบจ.พัทลุงยังขอยืนราคากลางไว้ที่ 450 ล้านบาท ส่วนการประมูลรังนกฯนั้นจะใช้วิธีไหนก็ได้ การยืนราคากลางดังกล่าวมิได้กระทำเพื่อคนใดคนหนึ่ง แต่ทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของท้องถิ่นและพี่น้องประชาชนชาวพัทลุง และยังมั่นใจว่าหากการสัญญาการสัมปทานรังนกสิ้นสุดในเดือน พฤศจิกายน ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถแก้ไขปัญหาการลักรังนกได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม หลายๆฝ่ายได้ออกมาชื่นชมต่อทางจังหวัด อบจ.พัทลุง ที่ได้ร่วมกันจัดการประชุมเพื่อสร้างการรับรู้ แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ในการบริหารจัดการและการสัมปทานรังนกฯในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นการจัดประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเงินจากการสัมปทานรังนกฯใน 3 ครั้งที่ผ่านมา เป็นเงินประมาณ 1,659 ล้านบาทนั้นกลับกลายเป็นเงินหัวแตก ชิ้นงานของเงินรังนกฯไม่โดดเด่นและเป็นรูปธรรม และในการประชุมครั้งนี้หลายฝ่ายยังเห็นว่าราคากลาง 450 ล้านบาทโดยตัดสัญญาแนบท้ายออกไปนั้นเป็นราคากลางที่เหมาะสมแล้ว ข่าวคืบหน้าจะรายงานให้ทราบต่อไป.