AAV ประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 2/2565 ฟื้นตัวต่อเนื่อง! รายได้รวม 2,774 ล้านบาท
หมวดหมู่ : ไลฟ์สไตล์-บันเทิง, ทั่วไป, ท่องเที่ยว, กรุงเทพฯ,
โฟสเมื่อ : 12 ส.ค. 2565, 15:18 น. อ่าน : 1,710 กรุงเทพ 11 สิงหาคม
2565 -
บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ
บจ.ไทยแอร์เอเชีย (TAA) เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2565
มีรายได้รวม 2,774 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 157 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หนุนจากการฟื้นตัวที่โดดเด่นของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
โดยปริมาณที่นั่งกลับมากว่าร้อยละ 33 ของช่วงก่อนโควิด-19
จากทั้งการเติบโตในตลาดภายในประเทศ
เเละเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มกลับมาให้บริการเพิ่มขึ้น
โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งตลาดอินเดีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อย่างไรตาม
ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักของสายการบินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
จากอุปสงค์การใช้น้ำมันที่เร่งตัวสูงกว่าอุปทานในตลาดโลกที่ตึงตัว
ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเหรียญสหรัฐฯ
ส่งผลให้ AAV มีผลขาดทุน 4,724 ล้านบาท ในไตรมาสนี้
ตลอดไตรมาสที่ 2 ปี
2565
TAA ขนส่งผู้โดยสารรวม 1.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 133
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 75 เพิ่มขึ้น 14 จุด
อีกทั้ง ราคาค่าโดยสารเฉลี่ยขยายตัวร้อยละ 17 มาอยู่ที่ 1,317 บาท
จากความต้องการท่องเที่ยวที่คงค้างมาตั้งแต่ปีก่อนและการค่าธรรมเนียมน้ำมันเชื้อเพลิงในเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ในขณะที่รายได้บริการเสริมต่อผู้โดยสารเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 มาอยู่ที่ 285 บาท
หนุนจากค่าบริการฝากสัมภาระใต้ท้องเครื่องและค่าธรรมเนียมการชำระเงินที่เพิ่มขึ้น
ในขณะที่อัตราความตรงต่อเวลาอยู่ที่ร้อยละ 96
โดยมีจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการเฉลี่ยอยู่ที่ 24 ลำ ณ สิ้นสุดไตรมาส เพิ่มขึ้นจาก
15 ลำในช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยอัตราการใช้งานเครื่องบินที่ 8.0 ชั่วโมงต่อวัน
เพิ่มขึ้นจาก 6.1 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยเครื่องบินที่เหลือมีเเผนสำหรับการรองรับปริมาณผู้โดยสารในครึ่งปีหลังต่อไป
ในขณะที่ภาพรวมครึ่งปีเเรกของปี
2565
AAV มีรายได้รวม 4,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 และมีผลขาดทุน
7,094 ล้านบาท จากปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ค่าบำรุงรักษาเครื่องบิน และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง
โดยขนส่งผู้โดยสารรวม 3.14 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 84
จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ร้อยละ 74
นายสันติสุข
คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น และ บจ.ไทยแอร์เอเชีย
กล่าวว่า หลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย และประเทศต่างๆ
เริ่มเปิดประเทศเต็มที่
อีกทั้งล่าสุดทางการอนุญาตให้สายการบินให้บริการอาหารและเครื่องดื่มในเที่ยวบินภายในประเทศแล้ว
ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีและเป็นโอกาสของ TAA ในการกลับมาสร้างรายได้ที่เเข็งเเกร่ง
โดยเฉพาะตลาดระหว่างประเทศที่จะเน้นมากขึ้น ซึ่งสิ้นสุด ณ ไตรมาสนี้ TAA กลับมาให้บริการแล้ว 19 เส้นทาง สู่ 8 ประเทศ คือ อินเดีย มัลดีฟส์
กัมพูชา เวียดนาม ลาว สิงคโปร์ มาเลเชีย และอินโดนีเซีย โดยในครึ่งปีหลัง TAA
ตั้งเป้าหมายในการเปิดบินสู่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งเเรก
ที่เมืองฟุกุโอกะ รวมทั้งประเทศเนปาลเเละบังคลาเทศ ถือเป็นการเปิดตลาดใหม่ๆ
ที่มีศักยภาพ
“ปัจจุบันบริษัทยังคงได้รับการสนับสนุนจากตลาดการเงินต่อเนื่อง
ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับการดำเนินธุรกิจซึ่งกำลังกลับมาเติบโตอีกครั้ง
สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่น รากฐานและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ
รวมทั้งความร่วมมือจากพนักงาน Allstars ทุกคน
ซึ่งต่อจากนี้เราวางกลยุทธ์ในการเเสวงหาทุกโอกาสเพื่อเพิ่มกระเเสเงินสดระยะสั้น
ควบคู่กับแผนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว สำหรับช่วงที่เหลือของปีนี้
เราคาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมจะดีต่อเนื่อง และ AAV น่าจะมีผลการดำเนินงานครึ่งปีหลังที่ดีที่สุดในรอบ
3 ปี” นายสันติสุข กล่าว
ในครึ่งปีหลังนี้ TAA พร้อมกลับมาทำเเคมเปญการตลาดเชิงรุกเต็มที่ ทั้งการตอกย้ำคุณภาพของแบรนด์ที่สร้างความเเตกต่างจากคู่เเข่ง ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยเเละความตรงต่อเวลา ผ่านเเคมเปญ “ขอใส่ใจให้หายคิดถึง” การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจจากสินค้าบริการที่หลากหลายของ airasia Super App การทำเเคมเปญต่อเนื่องร่วมกับภาครัฐเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย” รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นที่ร้อนเเรงตลอดครึ่งปีหลัง โดยเน้นในตลาดเส้นทางระหว่างประเทศที่คาดว่าจะสามารถสร้างผลกำไรได้ดีต่อเนื่องไปถึงปีหน้า ทั้งนี้ตลอดปี 2565 บริษัทตั้งเป้าผู้โดยสารอยู่ที่ 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าจากปีก่อนที่ขนส่งผู้โดยสาร 2.93 ล้านคน พร้อมทั้งตอกย้ำความเป็นผู้นำสายการบินราคาประหยัดสำหรับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยมีความพร้อมให้บริการด้วยเครื่องบินปฏิบัติการจำนวน 43 ลำ จากฝูงบินทั้งหมดจำนวน 53 ลำ ณ ปลายปีนี้
*กำไรจากการดำเนินงานของบริษัท
(ไม่รวมรายได้เงินปันผล กำไร/ขาดทุนจากการขายเงินลงทุนและสินทรัพย์
กำไร/ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยรับ และกำไร/ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์)
ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย.